สื่อต่างประเทศ หลายสำนักทั่วโลก รวมทั้งเดอะ การ์เดี้ยน นิวยอร์กไทมส์ ซีเอ็นเอ็น และบลูมเบิร์ก รายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 74 ปี ปัจจุบันเป็นนักโทษเด็ดขาดชายที่ได้รับโทษตัดสินจำคุกรวม 8 ปี แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เขา ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือ 1 ปี หลังจากยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่จากอังกฤษรายงานว่า นายทักษิณเพิ่งเดินทางกลับไทยมารับโทษได้เป็นเวลาเพียงสัปดาห์กว่าๆ หลังจากที่หนีคดีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศนานกว่า 15 ปี เดอะ การ์เดี้ยนรายงานว่าในราชกิจจานุเบกษาระบุ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม นช.ทักษิณยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษาเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป
สื่อใหญ่ของอังกฤษระบุว่า นายทักษิณเดินทางกลับไทยด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ของเขาได้ขึ้นสู่อำนาจ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ได้รับการโหวตจากรัฐสภาให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 11 พรรคซึ่งรวมถึงพรรคที่มีกองทัพสนับสนุนอย่างพลังประชารัฐ (พปชร.) และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กลายมาเป็นที่ครหาอย่างมาก รวมทั้งการผลักไสพรรคก้าวไกลที่เคยจับมือกันหลังการเลือกตั้งในช่วงระยะสั้นๆ ให้ไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ได้สร้างความเดือดดาลให้กับคนหนุ่มสาวที่เป็นฐานเสียงพรรคก้าวไกลด้วย
ขณะที่ นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร ยังคงเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยระหว่างปี 2544-2549 ก่อนที่จะถูกรัฐประหารยึดอำนาจ แต่นับจากปี 2544 เป็นต้นมา พรรคที่เขาก่อตั้ง แม้จะเปลี่ยนชื่อไปหลายครั้ง แต่ก็ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาโดยตลอด เว้นแต่ครั้งล่าสุดในปีนี้ ที่พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภาเป็นอันดับสองรองจากพรรคก้าวไกล การกลับไทยอย่างปุบปับของนายทักษิณกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาว่า มีการเจรจาทำดีลลับระหว่างเขากับกลุ่มอำนาจเก่าว่า เขาจะได้รับการลดโทษแลกกับการให้กลุ่มดังกล่าวได้มีอำนาจต่อไป
ด้าน ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า การได้รับพระราชทานอภัยลดโทษของนายทักษิณ ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบรรยากาศที่ครอบงำการเมืองไทยมายาวนานนับทศวรรษ เขาถูกตัดสินมีความผิดใน 3 คดีโทษจำคุก 8 ปี ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และหลังจากกลับมารับโทษได้ไม่กี่วันเขาก็ยื่นหนังสือขอรับพระราชทานอภัยโทษ แม้จะมีรายงานว่าเขาปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีดีลลับใดๆ แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันก็ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับซีเอ็นเอ็นว่า ความเร่งด่วนของเวลาดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาลผสมที่รวมพรรคที่กองทัพสนับสนุนเข้าไว้ด้วย เพื่อให้พรรคก้าวไกลที่มีนโยบายปฏิรูปกองทัพและแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ไปเป็นฝ่ายค้านและอยู่ห่างๆเข้าไว้
“มันเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้แล้ว และประเทศไทยก็จะก้าวหน้าต่อไปนับจากจุดนี้ แต่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่ค่อยน่าสบายใจนัก”
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร ยังอาจกลับมามีอิทธิพลทางการเมืองในไทยหลังจากนี้ โดยระบุว่าการกลับไทยของเขาเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เป็นดราม่าการเมืองของไทยที่ผ่านอะไรมามากมายสุดท้ายก็วนกลับมาสู่จุดเดิม เป็น full-circle moment ทั้งนี้ ไทยผ่านการรัฐประหารและการลงถนนประท้วงของประชาชนที่รุนแรงถึงขั้นนองเลือดมาก็หลายครั้ง ซึ่งในระหว่างนั้นความขัดแย้งทางการเมืองก็ทำให้เศรษฐกิจของไทยเสียหาย ความสามารถในการแข่งขันถดถอย ความดึงดูดใจนักลงทุนลดลง ซึ่งบลูมเบิร์กระบุว่า ความขัดแย้งหลายครั้งนั้นก็เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มตระกูลชินวัตรและผู้สนับสนุน กับกลุ่มหัวอนุรักษ์ที่มองว่ากลุ่มของทักษิณเป็นภัยคุกคาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเห็นกับบลูมเบิร์กว่า นายทักษิณอาจจะใช้เวลารับโทษอยู่ในโรงพยาบาล แล้วกลับมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก แต่ตอนนี้คงจะต้องระมัดระวังมากกว่าเก่า เพราะหากก้าวพลาดก็อาจหมายถึงทั้งเขาและพรรคเพื่อไทยอาจแก้มือไม่ได้อีกแล้ว เพราะตอนนี้มีพรรคก้าวไกลที่ได้รับความนิยมอย่างมากขึ้นมาเป็นคู่แข่ง นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็อาจจะต้องบริหารประเทศภายใต้เงาของทักษิณ
“เพราะพรรคเป็นของทักษิณ และสส.ก็เชื่อฟังเขา ฉะนั้นนายกฯคนใหม่ (นายเศรษฐา) ก็คงต้องพยายามรักษาศักดิ์ศรีและความเป็นตัวของตัวเอง เขาจะกล้าขัดคำสั่งของทักษิณหรือเปล่า แต่ถ้าหากเขาทำตาม(คำสั่ง) ก็อาจเจอกระแสตีกลับกลายเป็นวิกฤตการเมืองอีกครั้ง แบบที่เราเคยเห็นกันมาก่อนแล้ว” นักวิชาการของไทยกล่าวทิ้งท้ายกับบลูมเบิร์ก
ข้อมูลอ้างอิง