รายงานพิเศษ : “เบิ้ม-สยบริปูสะท้าน” ยิงตัวตาย-ฆ่าตัดตอน?

12 ก.ย. 2566 | 11:11 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 04:42 น.

“เบิ้ม-สยบริปูสะท้าน” ยิงตัวตาย-ฆ่าตัดตอน? : “ในเชิงของการพิสูจน์หลักฐาน ถ้ายิงตัวตาย มือผู้ตายจะเปื้อนเลือด แต่ทำไมมือ ผกก.เบิ้ม สะอาด”  รายงานพิเศษ โดย....ต้นกล้า

กลายเป็นเรื่องสุดช็อค ภาค 2 ในคดียิงนายตำรวจระดับสารวัตรตายอย่างอุกอาจ ในงานเลี้ยงของ  "กำนันนก-นายประวีณ จันทร์คล้าย" ทั้งๆ ที่มีตำรวจไปร่วมงานกว่า 28 คน  

ช็อคภาค 2 นี้แรงและสะท้อนภาพผิดปกติในเรื่องอาณาจักรตำรวจ-ส่วย เมื่อ “พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์” นายตำรวจนักรบ ที่เรียกขานในหมู่ตำรวจทางหลวงว่า “ผกก.เบิ้ม” ผู้กำกับ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ตัดสินใจลั่นไกจบชีวิตตัวเอง ภายในบ้านพัก  

ข้อมูลที่ออกมาฉากหน้าในตอนนี้ ยิงตัวตาย เนื่องจากอาการเครียด จากการเป็นคน Call ผ่านทางมือถือไปหา “สารวัตรแบงค์” พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้าน “กำนันนก” กระทั่งถูกยิงจนเสียชีวิต ต่อหน้าต่อตาตำรวจ 27 นาย 

ตำรวจ 28 คน ในงานเลี้ยงกำนันนก ตอนนี้ถูกสอบสวนและจะถูกดำเนินคดีโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  

•กลุ่ม 1 กลุ่มที่ช่วยเหลือสารวัตรศิว และ รองผู้กำกับ ซึ่งนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล + เป็นเลือดตำรวจ 

•กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ช่วยเหลือผู้ต้องหา ทั้งหมดคือ ผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 112 ร่วมมือกับผู้มีอิทธิพล 

•กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มตำรวจที่ขี้ขึ้นสมอง วิ่งหนีกระเจิดกระเจิง ออกนอกพื้นที่ จะต้องจัดการตามฐานความผิด 

ประเด็นคือ ทำไม “พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์” นายตำรวจนักรบ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในเมื่อตัวเองเป็นคนพา “สารวัตรแบงค์” พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ที่ถูกยิง และ พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่บาดเจ็บส่งตัวที่โรงพยาบาล อย่างน้อยเลือดที่เปรอะเปื้อนจากการช่วยเหลือสารวัตรแบงค์ ย่อมคุ้มครองป้องกันในทางคดี

จะว่ากดดันก็ไม่ใช่เหตุ เพราะตัวตนของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ นั้นถือว่า เป็นตำรวจแกร่ง ตำรวจนักรบ  

พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ อดีตเป็น ผกก.ปพ.บช.ก.หรือ กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (กก.ปพ.บช.ก) จัดเป็นอาวุธหนักที่รวบรวมกำลังพลชั้นยอดของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ตำรวจกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ แต่ละคนที่จะจะเข้ามาติดอาร์ม “ปพ.” ได้ ต้องจบหลักสูตรนเรศวร 261 หลักสูตรสุดยอดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น 

พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.เบิ้มนั้น ถูกเรียกขานกันในหน่วยคอมมานโดของกองปราบว่า “สยบ1” (สยบ ย่อมาจากสยบ..ริปูสะท้าน) 

เส้นทางอาชีพตำรวจของ “สยบ 1-ผู้กำกับเบิ้ม” นั้นเคยทำงานร่วมกันกับ “นายพลนักสืบแห่งนครบาล พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ” ตอนเป็นรองผู้การ จนเกษียณ ที่ผู้การศูนย์สืบ บช.น.  

หลัง พล.ต.ต.ประยนต์ เกษียณแล้ว เพื่อนร่วมรุ่นสนิทกันตั้งแต่ที่โรงเรียนนายร้อย ชวน “ผกก.เบิ้ม” มาเป็น สารวัตรคอมมานโด ที่กองปราบฯ ตอนนั้นเป็น สว. ปปป. จึงตกลงย้ายไปอยู่ กับ พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งเวลานั้นเป็น รอง ผกก.รักษาราชการแทน ผกก. 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เบิ้ม สยบ 1” เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นตำรวจที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ระย่นระย่อ และเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือประสานงานกับผองเพื่อนได้เป็นอย่างดี มีจิตใจที่แบ่งปัน จนขึ้นเบอร์ 1 กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (กก.ปพ.บช.ก) ที่มีชื่อเรียกที่มาจากหลักสูตรการฝึกว่า สยบริปูสะท้าน  ซึ่งมีการประดับคำนี้เหนือคำว่า COMMANDO เหนืออาร์มของกองปราบปรามบนแขน จนกลายเป็นชื่อเรียกของหน่วย 

ในปี พ.ศ. 2561 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเป็น “กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ” โดยมี พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรกของหน่วย และแทนที่กองกำกับการเดิมของกองปราบ ด้วยการจัดตั้ง กองกำกับการสนับสนุน ขึ้นมาแทน และจัดตั้งหน่วยหนุมานกองปราบขึ้นมาแทนหลังจากนั้น  

กระทั่ง วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562 ได้มีราชกิจจานุเบกษาประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยเป็น “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904”  ซึ่งหน่วยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม จึงได้ถือให้ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นวันสถาปนา  

และในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม อีกครั้งเป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” เพื่อสอดรับกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย   

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในปฏิบัติการชิงตัวประกันในเทอร์มินอล 21 โคราช โดยนำกำลังจำนวนหนึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งในขณะนั้นหน่วยยังคงใช้ชื่อว่า กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ถูกเรียกในชื่อย่อว่า "ตร.มหด.904" โดยได้ร่วมอพยพประชาชนที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่ปะทะและคลี่คลายสถานการณ์ โดยทีม จนท. จำนวนหนึ่งได้เข้าเคลียร์พื้นที่เพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ได้รับบาดเจ็บ และถูกผู้ก่อเหตุที่ซ่อนอยู่ยิงต่อสู้ เจ้าหน้าที่จึงได้ยิงต่อสู้และสังหารผู้ก่อเหตุตาย 

ตอนอายุ 39 ปี “ผกก.เบิ้ม-สยบ 1” ยังไปเรียนหลักสูตรต่อต้านก่อการร้ายที่ค่ายนเรศวร 261  ฝึกเป็นนายตำรวจที่ยศสูงสุด อายุเยอะที่สุดตอนนั้น เรียกว่า 01 นเรศวร รุ่น 15 จนได้ธงประจำรุ่นมาครอง  
ในบรรดานายตำรวจเขารับรู้กันว่า “ใครเป็น 01” จะได้ธงมาครอง ซึ่ง ผกก.เบิ้มเคยบอกลูกน้อง ว่าเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก เพราะเป็นหลักสูตรสูงสุด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (ผกก.2 บก.ทล.) ที่เข้าไปพัวพันกับ “กำนันนก” และ นำพานายตำรวจรุ่นน้องไปเกิดเหตุถึงแก่ความตายจากการถูกยิงต่อหน้าต่อตา ซึ่งหน้านายตำรวจนักรบ  

แม้หลายคนจะบอกว่า สยบ 1-ผู้กำกับเบิ้มเครียด แต่คนในหน่วยคอมมานโด ไม่มีใครเชื่อว่าคนหัวใจเด็ดเดี่ยว เป็นผู้ฝูง ผู้นำหน่วยจะตัดสินเช่นนั้น 

พวกเขาตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวน ตร.พิสูจน์หลักฐาน และนิติวิทยาศาสตร์ว่า นี่คือ “การยิงตัวตาย หรือฆ่าตัดตอน” กันแน่?

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะรูปแบบการยิง และหลักฐานนั้นบ่งบอกอะไรหลายอย่าง  

ในทางนิติวิทยาศาสตร์ เสมือนมีคนทำให้ ผกก.เบิ้ม ตาย และถ้าถูกยิงเลือดจะกระเซ็น ซึ่งเลือดกระเซ็นไปเต็มฝา แถมมือที่ถือปืนของ สยบ 1 ไม่มีรอยเลือด 

ในเชิงของการพิสูจน์หลักฐาน ถ้ายิงตัวตาย มือผู้ตายจะเปื้อนเลือด แต่ทำไมมือ ผกก.เบิ้ม สะอาด 

ตร.พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ จักต้องหาเหตุผลในเชิงประจักษ์ให้ได้ อย่าให้ใครตายฟรีเพื่อตัดตอนเรื่องราวบางอย่างให้หายวับไปในอากาศธาตุ....