จากปมร้อนสืบเนื่องจากคดีสั่งยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สารวัตรแบงค์ สารวัตรทางหลวง ในงานเลี้ยงบ้านของ "นายประวีณ จันทร์คล้าย" หรือ กำนันนก กำนันตำบลตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม
ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดประเด็นเชื่อมโยงที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่องกับจุดที่สนใจของ "ธุรกิจกำนันนก" ที่มีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 2 แห่ง จากข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT Ai พบว่า บริษัททั้ง 2 แห่ง รับงานก่อสร้างโครงการรัฐ ทั้งสิ้น 1,311 สัญญา วงเงินรวม 7,108,912,659.44 บาท
ส่วนใหญ่เป็นการรับงานก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงถนน จากองค์การบริการส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาลนคร เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในจังหวัดนครปฐมกว่า 1,200 สัญญา มูลค่างานรวมกว่า 4,700 ล้านบาท ซึ่งบางโครงการชนะประมูลด้วยการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 37%
และนอกจากนี้ยังพบว่าในรอบ 2 ปี ได้งานจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง แบบไม่ต้องยื่นซองประมูล เกือบ 80 โครงการ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทกำนันนกว่า ถ้าดูเฉพาะเรื่องธุรกิจก่อสร้าง สิ่งที่เห็นตอนนี้คือเขาชนะงานเยอะมาก ได้โครงการมากวงเงินเยอะมาก เทียบได้กับบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง หรือผู้รับเหมาชั้นพิเศษก็ว่าได้
ในวงการก่อสร้างถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้ก็ต้องดูว่าให้มีการเหมาช่วงหรือไม่ คือได้งานแล้วนำงานไปขาย ถ้านำไปขายก็ถือว่าผิดกฎหมายเพราะไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงาน ซึ่งในทางปฏิบัติหน่วยงานก็จะไม่อนุมัติให้มีการขายงานอยู่แล้ว
หลายโครงการใช้วิธีพิเศษเฉพาะเจาะจง
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า หลายโครงการใช้วิธีพิเศษ จากข้อมูลที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเห็น ถ้าโครงการที่ราคาโครงการต่ำกว่า 5 แสนบาท เขาก็สามารถใช้วิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องมีกระบวนการสืบราคา ต้องดูว่าสืบราคาถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
"และในทุกๆโครงการถ้าวงเงินโครงการไม่เกินกว่า 5 แสนบาท ก็ต้องดูว่าใครเป็นคนอนุมัติ อนุมัติด้วยเหตุผลอะไร 1.เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษหรือไม่ 2.งานไม่มีความซับซ้อนใช่หรือไม่ 3.งานต้องเร่งด่วนหรือไม่ หากเข้าลักษณะงาน 3 ข้อนี้ จึงเลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจง แต่กระนั้นหน่วยงานก็ต้องสืบราคากลางที่เหมาะสมเช่นกัน"
ตั้งข้อสันนิษฐานว่าฮั๊วประมูลหรือไม่
ดร.มานะ แนะวิธีการสังเกตว่าฮั๊วประมูลหรือไม่ว่า อันไหนมีการฮั๊วราคาหรือไม่ก็คงต้องดูกันว่าราคาที่ชนะการประมูล ถ้าชนะด้วยการเฉือนกับราคากลางตามที่ปรากฎเป็นข่าว คือ มูลค่าโครงการ 4 แสนกว่าบาท แต่ชนะด้วยการเสนอราคาถูกกว่าราคากลาง 500 บาท หรือคิดเป็น 0.0001%
"ถ้าเฉือนแบบนี้เราสันนิษฐานได้ก่อนเลยว่าอาจจะมีการฮั๊วประมูลเกิดขึ้น" ดร.มานะ กล่าว
และจากข้อมูลของฐานเศรษฐกิจที่อ้างอิงข้อมูล ACT Ai ที่บอกว่ามีบางโครงการประมูลต่ำกว่าราคากลางถึง 37% คำถามคือ โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ และจากข้อมูลพบว่า โครงการนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเขาถูกปรับเพราะทำงานล่าช้า
แนะวิธีการดูแบบไหนที่เรียกว่าเข้าข่าย "ฮั๊วประมูล"
ดร.มานะ แนะนำวิธีการให้ดูว่าการฮั๊วประมูลเป็นอย่างไรว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ หน่วยงานรัฐหรือสื่อมวลชนสามารถดูข้อมูลได้จากระบบ ACT Ai
"แต่ในระยะหลังเมื่อถูกเพ่งเล็ง บริษัทพวกนี้จะไม่ใช่วิธีแบบเดิม บริษัทเดิมๆ ไปดึงบริษัทพรรคพวกมา หรือ จดทะเบียนบริษัทผีมา"
การกินฮั๊ว หรือ การแบ่งฮั๊ว จะมีการจ่ายเงินจ่ายทองกัน ดูเส้นทางการเงินก็ดูยาก เพราะใช้วิธีการบัญชีม้าเช่นเดียวกับเว็บพนัน หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฉะนั้นเรื่องการดูบัญชีม้าก็อาจจะยุ่งยาก แต่โดยรวมแล้วหน่วยงานรัฐก้ต้องปรับตัวเพื่อไล่ล่าให้หมด
และนอกจากนี้ยังทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ก็รวบรวมประเภทบริษัทที่ "ฟันงานแล้วทิ้ง" เพราะส่วนนี้ก็มีจำนวนมาก
หวัง เหตุการณ์กำนันนก เป็นโมเดลทลายทุจริตทั่วประเทศ
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์กำนันนก และการเสียชีวิตของสารวัตรแบงค์จะมีค่ามาก หากจุดประกายทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ กรมบัญชีกลาง ดีเอสไอ ป.ป.ช. ป.ป.ง. ทำให้ขบวนการธุรกิจสีเทาถูกทำลายลง ไปถึงต้นตอหรือ "บ้านใหญ่" ในระดับจังหวัดได้
"และหากทำลายไปถึงจังหวัดได้ พฤติกรรมที่เหมือนกันในรูปแบบเดียวกันยังมีอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย สามารถนำไปใช้ได้เพราะใช้วิธีเดียวกัน เรื่องส่วย เรื่องคอร์รัปชันโกงกินกัน การข่มขู่เจ้าหน้าที่ก็จะลดน้อยลงไปได้มากเพราะเคสนี้เคสเดียวมีทุกเรื่องเลย เพราะชี้ตรงไหนก็เห็นความเละเทะตุ้มเป๊ะหมด"
แถลงการณ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หยุดวิ่งเต้น-โยกย้าย โกงเอาตำแหน่ง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 ระบุว่า จากเหตุการณ์นายตำรวจถูกยิงเสียชีวิตและบาดเจ็บในบ้านของผู้มีอิทธิพลที่จังหวัดนครปฐม โดยปรากฏในเวลาต่อมาว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าหาผู้มีอิทธิพลเพื่อผลประโยชน์และโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ การแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย ส่วยและธุรกิจสีเทา ที่ล้วนเป็นพฤติกรรมคอร์รัปชันซ้ำซากในสังคมไทย
คดีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของระบบราชการที่ล้มเหลวเต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง อันสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการที่ขาดธรรมาภิบาล ไม่รู้จักผิดชอบชั่ว ปล่อยให้ข้าราชการที่ไม่ดีไร้เกียรติก้มหัวเข้าหายอมเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอิทธิพล
ในขณะที่ข้าราชการน้ำดีมักจะถูกกลั่นแกล้งกดหัวจนถึงขั้นเอาชีวิต ดั่งที่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวที่สะเทือนขวัญของคนไทยในขณะนี้
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า เพื่อปกป้องและคืนความเป็นธรรมให้ข้าราชการน้ำดีไม่โกงกินได้มีที่ยืนและเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่
จำต้องกำจัดอภิสิทธิ์ชนและเครือข่ายอุปถัมภ์ของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล และนายทุนสีเทา โดยเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาว่า
“การซื้อขายตำแหน่งการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมต้องหมดไป ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ปัญหาคอร์รัปชันจะลดลง มีความโปร่งใส เป็นธรรมเพิ่มขึ้น สร้างความยอมรับนับถือจากทั่วโลก ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน”
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้โปรดแสดงบทบาทอย่างจริงจังทันทีตามที่ได้กล่าวเป็นคำมั่นกับสาธารณชนไว้ เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการผู้มุ่งมั่นรับใช้แผ่นดินตลอดจนสังคมไทยที่เอือมระอาต่อระบบราชการที่เต็มไปด้วยการโกงกิน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พร้อมจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งหมดไปจากระบบราชการไทยในช่วงการทำงานของรัฐบาลชุดนี้