ป.ป.ช.ชี้มูล"เพิ่มพูน -สว.ธานี" ผิดคดีไม่ฟ้อง"บอส อยู่วิทยา"

14 ก.ย. 2566 | 09:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 09:20 น.

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดี กลับคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” แล้ว ส่งชื่อ “เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษา- สว.ธานี” ให้ผู้บังคับบัญชาฟันวินัยตามอำนาจหน้าที่ หลังพบ ข้อกล่าวหาไม่ใช่ความผิดร้ายแรง

 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 ได้ชี้มูลความผิดกรณีผู้ถูกกล่าวหาในคดีกลับคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555

เนื่องจากมีขบวนการช่วยเหลือในการเปลี่ยนพยานหลักฐานด้านความเร็วของรถ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 15 ราย ประกอบด้วย อดีตข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ เจ้าหน้าที่ข้าราชการตำรวจที่ยังรับราชการอยู่ พนักงานสอบสวนคดี พนักงานอัยการ และนักการเมือง 

 

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา ได้แก่    พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) , นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ,นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส

นายพิชัย (ชูชัย) เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ปัจจุบันดำรงตำแหน่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , นายสายประสิทธิ เกิดนิยม และพนักงานสอบสวนบางส่วน 

นายวรยุทธ อยู่วิทยา

ส่วนนายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นรมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอน ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าว มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดลงรายมือชื่อในสำนวน และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจะได้แถลงข่าว พร้อมให้รายละเอียดพฤติการณ์ทั้งหมดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้