นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะมีทั้งหมด 9 ราย โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานที่ปรึกษา
สำหรับคำสั่งดังกล่าว ระบุรายละเอียดว่า เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประกอบด้วย
ทั้งนี้ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
สำหรับการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ ครั้งนี้ ปรากฏชื่อของ นายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมทนายความของตระกูลชินวัตร เข้ามานั่งเป็น 1 ใน 9 ที่ปรึกษาด้วย โดยก่อนหน้านี้ นายพิชิต เคยมีการรายงานว่า มีชื่อติดอยู่ในโผครม.เศรษฐา1 โดยคาดว่าจะเข้ามานั่งในตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ปรากฏรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี
ส่วน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ และเป็นน้องชายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า เคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันเป็น หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า
ส่วน นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านภาคเอกชน โดยเป็นประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเป็นกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาก่อน เขายังเป็นหนึ่งในพยานปากเอก จำนวน 7 ปากคดีโครงการทุจริตรับจำนำข้าวที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ด้วย
ด้าน นายศุภนิจ จัยวัฒน์ เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีโรงแรมสไตล์บูติกทั้ง โรงแรมสีลม ศิรีนทร์ โรงแรมโพธิ ศิรีนทร์ จ.เชียงใหม่ และโรงแรมบ้านบาหยัน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง นายศุภนิจ ถือเป็นเพื่อนสนิทกับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยเด็ก จนโตมาเป็นนักธุรกิจด้วยกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิมล ศรีวิกรม์ ปัจจุบันนั่งเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา พรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย รวมทั้งยังเคยเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ก้าวเข้าสู่การเมือง เป็นเลขาส่วนตัว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนถึงช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
นายชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ หลานชายนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายก โดยเข้ามาทำงานการเมืองเป็นคณะทำงานนโยบายที่ดินและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ผลักดันนโยบายที่ดินเพื่อไทย เร่งรัดออกโฉนด จัดหาที่ทำกิน 50 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ
นายชัย วัชรงค์ เป็นนักวิชาการด้านการเกษตรสมัยใหม่ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเกษตร พรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 91 จบการศึกษาจากสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันนั่งตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และมีชื่อในรายชื่อสส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 78 เป็นผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เมื่อ23พ.ย.2565 เรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากที่บริษัทยังไม่ได้รับชำระจากกทม. ในมูลค่ารวมราว 1.7 หมื่นล้านบาท