ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ปรับโอน “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร ในสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2566
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่อดีต ผบ.ทบ. เข้ามาเป็นข้าราชการในพระองค์ตามกฎหมาย ต่อจาก “บิ๊กแดง- พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” อดีต ผบ.ทบ. คนที่ 41 และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ทบ. คนที่ 42 "ทหารคอแดง" หรือ “หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904” ทั้งคู่
ที่แตกต่างกันคือ กรณี พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นการปรับโอนนายทหารสัญญาบัตร มาเป็น "ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร" ในตำแหน่ง “ผู้บัญชาการสำนักงาน นายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” เป็นการรับโอนมาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของนายทหารอัตราพลเอกพิเศษ
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ นั้น ได้รับโปรดเกล้าฯ รับโอนจากข้าราชการทหาร บรรจุเป็น "ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน" ในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11 สังกัดสำนักพระราชวัง นี่คือ ความต่างในความเหมือน
เป็นการรับโอนนายทหาร ตั้งแต่หัวจรดเท้าที่ทำงานมาในหน่วย รักษาพระองค์มาอย่างยาวนาน มาเป็นผู้บัญชาการคนใหม่
สำหรับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ หรือ “มณเฑียร แก้วแท้” นั้น ตอนเป็น “นายพัน” เคยเป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน.1 รอ.) ก่อนขยับขึ้นมาเป็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน.3 รอ.)
พอขึ้นชั้นนายพล เป็น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ก้าวขึ้นเป็น ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)ขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 (รอง มทภ.1)
ขึ้นไลน์ แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1) อัตรา "พลโท" ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อัตรา "พลเอก" และเป็น ผู้บัญชาการทหารบกนาน 3 ปีเต็ม น้อยกว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เป็น ผบ.ทบ. ต่อเนื่อง 4 ปี เพียงคนเดียวในรอบ 10 ปี
นายทหารผู้นี้เคยไปปฏิบัติภารกิจอย่าง “ทหารมืออาชีพ” ในกองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ไทย-ติมอร์ตะวันออก เคยไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 เคยปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดยะลา ระหว่างความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เคยไปปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังนานาชาติ INTERFET และกองกำลังสหประชาชาติ UNTAET ภารกิจรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก เคยเป็นนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ สังกัด กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ก่อนได้รับได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นราชองค์รักษ์เวร
หลายคนอยากรู้จักหน่วยงานนี้ว่า มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมมีการโอน ผบ.ทบ. ที่ยังไม่ทันเกษียณ ไปดำรงตำแหน่งก่อนอำลาเส้นทาง “ผบ.ทบ.18-19 วัน”
สำหรับ “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” นั้น เดิมมีฐานะเป็นหน่วยงานในสังกัด “สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด” กองบัญชาการกองทัพไทย
กระทั่งในปี พ.ศ. 2556 ได้มีการยกฐานะหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ขึ้นเป็นนิติบุคคล ระดับกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม โดย “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ขณะยังดำรงพระยศเป็น ”สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการ”
ต่อมาได้มี “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2560 ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ 2560 กำหนดให้มี “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” เป็นหน่วยราชการในพระองค์
สำหรับที่ตั้งของ “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” หรือเรียกขานกันว่า “นถปภ.รอ.” อยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน 904 ถนน นครราชสีมา แขวง ดุสิต เขต ดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
“หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม และ กำกับดูแลการปฏิบัติงานในการถวายอารักขา รักษาความปลอดภัย และ ถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์
รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนวางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการ และกำกับงานในหน้าที่ในองค์พระมหากษัตริย์ และมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ และ พระราชอาคันตุกะ
โครงสร้างของหน่วยบัญชาการ นถปภ.รอ. มี 5 หน่วยงาน
“สำนักงานผู้บังคับบัญชา” มี “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ทรงดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการ”
เดิมนั้น มีนายทหาร และ นายตำรวจ อาทิเช่น พล.อ.จักรภพ ภูริเดช พล.ต.อ.อรรถกร ทิพยโสธร พล.อ.อ.ชาญชาย เกิดผล พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ เป็น รองผู้บัญชาการ นถปภ.รอ. ตอนนี้มีการแยกการบังคัญบัญชา
“สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์” มี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีต ผบ.ทบ.เป็น ผู้บัญชาการ บทบาทสำคัญคือ มีหน้าที่ดำเนินการ และปฏิบัติการ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บังคับบัญชาในสายงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปฏิบัติงานโดยตรงต่อในพระองค์
ก่อนหน้านี้สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ มี พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการสำนักงาน หน่วยงานปรับปรุงขึ้นมาจากกรมราชองครักษ์เดิม นายทหารที่ดูแลคือ พล.อ.พงษ์เทพ กนิษฐานนท์ รองสมุหราชองครักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พร้อมกับนายทหารในกรมราชองครักษ์อีก 43 นาย
พล.อ.ธรรมนูญ วิถี อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 1 ใน 5 เสือ ทบ. ก็เคยได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ได้เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารในตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
“สํานักงานราชองครักษ์ประจําพระองค์” นั้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง “พล.ร.อ.วีระศักดิ์ อ๊อกกังวาล” นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์(อัตรา พลเรือเอกพิเศษ) เป็น “ผู้บัญชาการ” มีหน้าที่วางแผน สั่งการ อำนวยการประสานงาน กำกับการ และดำเนินการตามพระราชกรณียกิจและพระราชกิจทั้งปวง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรงตามพระราชโองการหรือพระราชประสงค์
“กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์” ผู้บัญชาการคือ พล.อ.จักรภพ ภูริเดช บุตรชายคนโตของ พล.ร.อ.สมภพ ภูริเดช อดีตราชองครักษ์พิเศษ และอดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคที่ 3
กองบัญชาการนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการถวายพระเกียรติ การถวายความปลอดภัย การถวายอารักขา และ การปฏิบัติตามพระราชประสงค์ในพระองค์ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในโดยรอบเขตพระราชฐาน ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย และมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
“กองบัญชาการนายตํารวจราชองครักษ์ประจําพระองค์” ผู้บัญชาการคือ พล.ต.อ.อรรถกร ทิพยโสธร มีหน้าที่ถวายความปลอดภัย ถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และบุคคลอื่นตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย และปฏิบัติภารกิจทั้งปวงให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ตามราชประเพณี