(3 ต.ค. 66) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ แก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการทำประชามติก่อน หลักการคือไม่แตะต้องหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจ
ทั้งนี้ได้นัดหมายการประชุมครั้งแรกวันที่ 10 ต.ค. 66 เพื่อพูดคุยเบื้องต้น และวางกรอบได้ว่า ภายใน 3 ถึง 4 เดือนหรือก่อนสิ้นปีนี้ จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการทำประชามติ
ซึ่งทั้งหมดก็จะอยู่ในกรอบเวลา 3 ปีบวก แล้วจะพิจารณาว่าควรทำกี่ครั้งโดยอยากทำให้น้อยครั้งที่สุดเพื่อประหยัดงบประมาณ
ส่วนการทำ ประชามติ ครั้งแรกคาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2567 หรือภายในไตรมาสแรก เพราะจะทำวางกรอบดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอพรรคก้าวไกลส่งตัวแทนมา แต่หากยังไม่พร้อมไม่สะดวกใจหรือด้วยเหตุใดก็ตาม ก็มีวิธีในการเปิดเวทีรับฟังความเห็น เป็นองค์ประกอบในการเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
"จะมีการตั้ง สสร. หรือไม่คงต้องมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง และต้องดูรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน แต่อยากเซฟให้ทำประชามติให้น้อยที่สุดเพราะการทำแต่ละครั้งคือ 3,000 ล้านบาท ในปัจจุบันถึง 4,000 ล้านบาทซึ่งถ้าเกิดทำจำนวน 4 ครั้งเท่ากับ 16,000 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากข้อกฎหมายเปิดได้สามารถประสานกันได้ทำก่อนและทำหลังเพียง 2 ครั้งก็ประมาณ 6,000 - 8,000 ล้านบาท ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเรื่องดีที่สุด" นายภูมิธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตามการทำประชามติครั้งแรก จะเป็นคำถามเกี่ยวกับการทำประชามติ เป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปดำเนินการ โดยในการแก้ไขยกเว้นหมด 1 และหมวด 2 ที่จะไม่มีการแก้ไข และจะต้องทำให้ผ่านความเห็นชอบ
โดยให้ฝ่ายที่มีความเห็นต่างกันหาจุดร่วมที่สามารถทำได้ พร้อมระบุว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องพัฒนาการ และก็จะสามารถเดินหน้านำไปสู่การปรับแก้ได้