พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aek Angsananont โดยมีข้อความว่า
“เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร)โดยมีท่านประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน เลขาธิการ ก.พ.และผม ร่วมเป็นกรรมการ
เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เสร็จสิ้นกระบวนการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค.ตร.โดยมีการสอบสัมภาษณ์ผู้สมัคร จำนวน 17 ท่าน (มีสิทธิเข้าสัมภาษณ์ 18 ท่าน สละสิทธิ 1 ท่าน)
การสอบสัมภาษณ์ ให้ทุกท่านตอบคำถามที่คณกรรมการคัดเลือกจัดเตรียมไว้ 2 ข้อ ให้เวลาท่านละ 20 นาที
คำถามเกี่ยวกับกฏหมายและการบริหารจัดการการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ฯ
เมื่อรวมผลคะแนนสอบสัมภาษณ์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการฯลงนามประกาศผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 7 ท่าน สำรอง 3 ท่าน
เมื่อวานนี้ วันที่ 4 ต.ค.2566 นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ลงนามประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ ก.พ.ค.ตร.จำนวน 7 ท่าน เรียงตามลำดับเลขประจำตัวดังนี้
1.นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
2.พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน อดีต ผบช.กมค.
3.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงค์ อดีต ผบช.สง.ก.ตร.
4.นายวันชาติ สันติกุญชร อดีตอธิบดีคณะกรรมการ กอ.
5.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร.
6.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตน์งาม อดีตที่ปรึกษาตร.
7.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 7 ท่าน จะประชุมเลือกกันเองเป็นประธาน และกรรมการ และเลขานุการคนหนึ่ง
ลำดับสุดท้ายเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามประกาศแต่งตั้ง
คาดว่าภายในตุลาคม 2566 คณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร.ก็สามารถเริ่มปฎิบัติหน้าที่ได้
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.)มีหน้าที่และอำนาจหลายประการ อาทิ พิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ อุทธรณ์ ฯลฯ โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องทุกข์กรณีตำรวจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งหรือการเรียงลำดับอาวุโส ฯลฯ
คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ให้เป็นที่สุด หากผู้ร้องทุกข์ไม่พอใจ ให้มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
กรณี ก.พ.ค.ตร.หรือศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยหรือพิพากษา ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเรียงอาวุโส หรือการแต่งตั้ง ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษได้ โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก แล้วรายงาน ก.ตร.
ในกรณี ก.ตร.มีมติว่าการไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ จงใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยร้ายแรง (โทษไล่ออกหรือปลดออก)ให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจดำเนินการลงโทษโดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวน
ก.พ.ค.ตร.เป็นคณะกรรมการคณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 ซึ่งมีเจตนารมณ์สำคัญในการที่จะทำให้การบริหารงานบุคคลตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตราการป้องกันมิให้ผู้ใดมาใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งให้ข้าราชการตำรวจสามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ในการแต่งตั้งโยกย้ายได้ตามกฎหมายต่อไป
ขอขอบพระคุณท่านวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ท่านชัยเจริญ ดุษฎีพร รองประธานศาลฎีกา ท่านปิยะวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการกพ.และพล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผบช.สง.ก.ตร. ตลอดจนข้าราชการตำรวจในสังกัด สง.ก.ตร. ทุกท่าน ร่วมดำเนินการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค.ตร.จนเสร็จสิ้น”
#กู้คืนศักดิ์ศรีตำรวจดีของประชาชน
#กตรผู้ทรงคุณวุฒิ
#ตำรวจ
#กพคตร