ชื่อของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องที่เหล่าคอการเมือง จับจ้องนับแต่วันที่เหยียบแผ่นดินไทยบ้านเกิดหลังจากหลบหนีคดีใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานกว่า 15 ปี พร้อมกับมีกระแสข่าวจากคนใกล้ชิด รวมถึงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า จะบินกลับไทยออกมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552
บอกผ่านระบบวิดีโอลิงค์ ขึ้นจอภาพบนเวที นปช. คนเสื้อแดง บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลผ่านว่า "ถ้าเมื่อไร เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชน ผมจะเข้าไปนำพี่น้องเดินเข้ากรุงเทพทันที" ท่ามกลางการเฝ้ารอของเหล่าพลพรรคคนเสื้อแดงในวันนั้น สุดท้ายก็ไม่ปรากฏเงาของนายทักษิณแต่อย่างใดกลายเป็นข่าวลวงข่าวหลอกตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
กระทั่ง โอกาสมีมาอีกครั้ง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกให้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงข้างมากแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
กระแสข่าวว่า นายทักษิณเตรียมบินกลับไทยจึงได้ย้อนกลับมาอีกครั้งโดยได้รับการยืนยันจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ระบุข้อความว่า ...พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง
แต่ก็ได้ยกเลิกไปโดยแหล่งข่าวใกล้ชิดให้เหตุผลว่า เนื่องจากแพทย์เรียกให้ไปตรวจร่างกายก่อนซึ่งนายทักษิณได้เตรียมการทุกอย่างไว้แล้ว ทั้งสัมภาระ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้บางส่วนด้วย แต่ก็ต้องประกาศเลื่อนการเดินทางออกไปดังกล่าว
สอดรับกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ขณะนั้นยังไม่ได้ข้อสรุปการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี กระทั่งเดินทางกลับมาไทยด้วยเครื่องบินส่วนตัวเมื่อในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
นับเป็นวันที่ นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินเข้าสู่กระบวนการของศาลอย่างเป็นรูปธรรม ถูกนำตัวเดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลนักการเมือง) เพื่อแสดงตนต่อหน้าศาล โดยศาลได้แจ้งและอ่านคดีความให้รับทราบและออกหมายขังจาก 3 คดี รวมต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 8 ปี หลังจากนั้นได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที
หนีไม่พ้นถูกตั้งคำถามว่า หลังจากวันนั้น (22 ส.ค.2566) นายทักษิณจะถูกคุมขังได้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำกี่วัน ไม่นานนักสังคมก็ได้คำตอบของคำถาม หลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหามหานครได้เพียง 13 ชั่วโมง นายทักษิณก็ถูกส่งตัวเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจกลางดึกเนื่องจากโรคประจำตัวกำเริบ ถูกนำตัวขึ้นชั้น 14 หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งเป็นห้องสูทระดับ VVIP
ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางกลับไทยของ "ทักษิณ" ครั้งนี้เป็นช่วงสุญญากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่เป็นรอยต่อระหว่างรัฐบาลรักษาการ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ รัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ที่ที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 มีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้ "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นวันเดียวกับ "ทักษิณ"กลับไทย
ไม่กี่วันหลังจากนั้นในวันที่ 1 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยโทษ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษจาก 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี
กระทั่ง เดือนตุลาคม 2566 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 "กรมราชทัณฑ์" ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า นายทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกครบ 60 วัน ความเห็นจากแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษาเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลตำรวจต่อไป
พร้อมระบุเกี่ยวกับการให้รายละเอียดของการเจ็บป่วยของนายทักษิณหลังสังคมตั้งข้อสังเกตเกิดคำถามหนาหูว่า นายทักษิณป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ว่า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
ถึงวันนี้นับตั้งแต่วันที่นายทักษิณเหยียบผืนแผ่นดินไทย (22 ส.ค.66) ต้องโทษจำคุก 1 ปีต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 คือ จำคุก 3 เดือนโดยถูกคุมตัวตั้งแต่ 22 สิงหาคมและครบกำหนด 3 เดือน คือ 120 วัน ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้แล้วซึ่งตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเข้าสู่กระบวนการพักโทษกรณีพิเศษนำตัวออกจากเรือนจำได้ ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นายทักษิณเข้าเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ เหตุเป็นนักโทษคดีไม่ร้ายแรงและโทษเหลือน้อยแล้ว
แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบข้อมูลและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ไม่ได้รับความกระจ่างแต่อย่างใด