รายงานพิเศษ : “ทักษิณ”ทางสะดวกลุ้นพ้นคุกก่อนสิ้นปี 2566

24 ธ.ค. 2566 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2566 | 03:05 น.

จับตา “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับการปล่อยตัวไปคุมขังนอกเรือนจำ ก่อนสิ้นปี 2566 รอเวลาครบ “พักโทษ” 22 ก.พ. 67 หลัง“สมศักดิ์”ออกมายอมรับเข้าเงื่อนไขคดีไม่ร้ายแรง-โทษจำคุกเหลือน้อย : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลานี้ยังอยู่ในสถานะผู้ต้องขัง และยังรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มีแนวโน้มสูงแล้วที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นคุก ไปคุมขังนอกเรือนจำ

โดยมีกระแสข่าวภายในว่า นายทักษิณ อาจจะได้ออกจาก รพ.ตำรวจ เพื่อกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน หรือ สถานที่อื่น ในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. 2566 นี้ หรือ ไม่เกินสิ้นปี 2566

"ทักษิณ"เข้าเกณฑ์ขังนอกคุก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับกระทรวงยุติธรรม ออกมายอมรับ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ว่า 

“กรณีของ นายทักษิณ ยอมรับว่าเข้าเกณฑ์ เพราะโทษไม่เกิน 4 ปี ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในข่ายน่ากลัวของสังคม เช่น โทษฆ่าข่มขืนที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ หากเป็นโทษที่ไม่เป็นภัยต่อสังคม ในระบบสากลสามารถคุมขังนอกเรือนจำได้ รวมถึงเหลือโทษน้อย" นายสมศักดิ์ กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหากำหนดให้ผู้ต้องโทษ “คุมขังนอกเรือนจำ” ได้

 

นายสมศักดิ์ ชี้แจงด้วยว่า ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายในระเบียบดังกล่าวมีกว่า10,000 ราย ส่วนนักโทษที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำ เท่าที่ทราบมีกว่า 150 คนที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำกว่า 30 วัน ไม่ใช่มี นายทักษิณ เพียงคนเดียว แต่นายทักษิณ เป็นบุคคลสาธารณะ จึงถูกจับจ้อง เป็นข่าว ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้สาธารณะเข้าใจ

นายสมศักดิ์ ยังย้ำถึงการออกระเบียบดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการของกฎหมาย ที่เขียนเมื่อปี 2560 แต่เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจใหญ่กว่าศาล แต่ต้องการพัฒนากฎหมายให้เป็นสากล ยอมรับว่า อาจเข้าทางคนที่มีโทษน้อย แต่คนที่มีโทษน้อย และ มีประโยชน์ต่อสังคม สมควรที่ส่วนรวมจะเข้าใจ

                                        รายงานพิเศษ : “ทักษิณ”ทางสะดวกลุ้นพ้นคุกก่อนสิ้นปี 2566

“ทวี”มีหน้าที่แค่รับทราบ

ขณะที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้ตอบกระทู้ถามสดของ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ที่ถามถึงประกาศที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรมที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน ในบรรทัดฐานของกรมราชทัณฑ์ ต่อการให้สิทธิ นายทักษิณ รักษาตัวนอกเรือนจำ ที่รพ.ตำรวจ เกิน 120 วัน เทียบกับสิทธิของผู้ต้องขังรายอื่น ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลปัจจุบัน และเมื่อตนเองเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม มีหน้าที่ปฏิบัติตาม 

พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงด้วยว่า กรณีของนายทักษิณ ที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทราบว่าพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ครบ 120 วัน ซึ่งตนจะพูดเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้รับเป็นเอกสารเท่านั้น เพราะหากพูดเกินไปจะถูกมองว่าเป็นศรีธนญชัย ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ทั้งนี้รับทราบจากอธิบดีราชทัณฑ์ว่า วันที่ 21 ธ.ค. 2566 จะส่งรายงานมา และตนมีหน้าที่เพียงรับทราบ แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติ

“ผมถามหมอตรงๆ ท่านยืนยันว่าป่วยจริง มีหลักฐานตามที่ปรากฎจริงและจากรายงานจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำ พบว่า ผู้ป่วยเป็นหลายโรค กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง และ เป็นความเห็นของแพทย์ รพ.ที่ยืนยันว่าป่วยจริง” 

รมว.ยุติธรรม ชี้แจงด้วยว่า “ระเบียบราชทัณฑ์เป็นเกณฑ์ปกติ ไม่ใช่เฉพาะนายทักษิณ ซึ่งออกระเบียบแล้วไม่ใช่จะจบเรื่อง เพราะต้องเข้าประชุมกรรมการ ที่จะประชุมต้นเดือน ม.ค.67 ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมด้วย และขณะนี้ผมเตรียมออกระเบียบอีกฉบับ ให้การคุมขังนอกเรือนจำครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนด้วย โดยให้ศาลพิจารณา”

รมว.ยุติธรรม ย้ำด้วยว่า “ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ เพราะยังพบผู้ใหญ่บางคนไปเยี่ยมญาติที่ชั้นดังกล่าว แต่คนละส่วนกัน อย่างไรก็ดี การพักชั้น14 นั้นเพื่อความปลอดภัยตามระบบของราชทัณฑ์”

                                  รายงานพิเศษ : “ทักษิณ”ทางสะดวกลุ้นพ้นคุกก่อนสิ้นปี 2566

ปม“ทักษิณ”อย่าโยงการเมือง

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ยืนยันเช่นกันว่า กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น เพราะว่าในเรือนจำมีความแออัดเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งอยากให้นักโทษได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่แออัด 

แต่ก็ต้องมีระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ เพราะ นายทักษิณ เข้ามาตามกระบวนการ และคำพิพากษาก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การเจ็บป่วยก็มีระเบียบรองรับอยู่แล้ว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มีหน้าที่ดูแลอยู่ ขอยืนยันว่าไม่มีใครไปเกี่ยวข้อง หรือแทรกแซง เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของแพทย์เท่านั้น 

“การจะรักษาต่อก็ต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ขอย้ำว่า ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง อยากให้เป็นเรื่องปกติ เพราะนายทักษิณ ก็เข้ามาตาม กระบวนการยุติธรรม ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น และ นายทักษิณ เองก็อายุกว่า 70 ปีแล้ว ขนาดผมก็ยังเพิ่งไปรักษาตัวมา เพราะคนวัยนี้ต่างเจ็บป่วยทั้งนั้นจะมากจะน้อยก็แตกต่างกันไป จึงอยากให้นำเรื่องนี้ออกจากทางการเมืองบ้าง เพราะหากนำทุกเรื่องไปยุ่งการเมือง ประเทศนี้จะเดินไปไม่ได้”

นายภูมิธรรม ย้ำว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ได้ออกมาเพื่อ นายทักษิณ แต่ออกมาเพื่อประชาชน และการจัดระเบียบในเรือนจำที่มีความแออัด 

“หากคิดว่าทุกอย่างการเมือง ประเทศไม่สงบสุขหรอกครับ เราหลุดพ้นจากความขัดแย้งมาเยอะแล้ว ก็อยากให้ใจกว้าง อยากให้เชื่อมั่นในกระบวนการของแพทย์ ที่จะต้องวินิจฉัยอย่างดีที่สุด อยากให้หลีกห่างจากความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าได้” นายภูมิธรรม กล่าว

“ทักษิณ”นอนรพ.ต่อได้

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ครบกำหนดพักรักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจ 120 วัน ว่า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการนำผู้ต้องขังรักษาภายนอกเรือนจำ เมื่อครบกำหนด 120 วัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของราชทัณฑ์ ประกอบกับการวินิจฉัยของแพทย์ ว่ายังจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องหรือไม่ 

แม้กฎกระทรวงจะระบุกรอบเวลาไว้ถึง 120 วัน แต่หากแพทย์ลงความเห็นว่า ยังจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง ก็สามารถขยายเวลาได้โดยไม่ได้มีข้อกำหนดว่า จะขยายได้ถึงเมื่อใด

นายสหการณ์ ย้ำว่า ไม่สามารถเปิดเผยอาการ หรือ รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการรักษา นายทักษิณ ได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อกฎหมาย และจริยธรรมแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจที่ขัดกับข้อกฎหมายได้

“แม้จะครบ 120 วันแล้ว แต่นายทักษิณ จะยังไม่สามารถขอพักโทษได้ โดยจะต้องรอให้รับโทษจำคุกแล้วเป็นเวลา 6 เดือนก่อน” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ

+++


คู่มือช่วยนักโทษไม่ให้ติดคุก

กรณีการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญให้สามารถคุมขังนักโทษนอกเรือนจำได้ และถูกจับตาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตอบคำถามในบทความ หัวข้อ “คู่มือช่วยนักโทษไม่ให้ติดคุก!!!” ว่า กฎกระทรวงปี 2563 ระบุให้วางระเบียบการบริหารแนวทางปฏิบัติงาน การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังแต่ละประเภทที่อยู่ในสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ

                                            รายงานพิเศษ : “ทักษิณ”ทางสะดวกลุ้นพ้นคุกก่อนสิ้นปี 2566

ทั้งหมดนี้ต้องวางระเบียบให้เห็นชัดเจน เช่น ถ้าเราจะเลือกเอานักโทษคดีติดยาเสพติดมาฟื้นฟูให้อยู่ในวัด หรือ มัสยิดแห่งหนึ่ง หรือ ถ้าจะเอานักโทษที่ร่างกายทรุดโทรมมาพักฟื้นในไร่ข้าวโพด ที่วังน้ำเย็น เหล่านี้ต้องทำอย่างไร บริหารอย่างไร  
อธิบดีจะต้องประกาศต่อไปว่า ในแต่ละเรือนจำจะมีสถานที่คุมขังนอกเรือนจำที่ใดบ้าง ประเภทใดบ้าง เช่น ประเภทฟื้นฟูฝึกอาชีพผู้ติดยา, ประเภทเตรียมตัวก่อนพ้นโทษ, ประเภทพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

หากใช้บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็อาจกำหนดเป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำประเภทใดก็ได้ อาจจะรวมนักโทษคดีคอร์รัปชันทั้งเรือนจำคลองเปรม มาฟื้นฟูนิสัยให้เลิกคดโกงก็ได้ หรือ เพื่อเตรียมตัวก่อนพ้นโทษก็ได้ พยาบาลก็ได้ 

“ที่สำคัญ คือ จะต้องเปิดรับนักโทษที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเป็นการทั่วไป จะรับแต่นักโทษเจ้าของบ้านคนเดียวไม่ได้ ผู้คนในบ้านก็ต้องย้ายออกให้หมด เพราะบ้านกลายเป็นที่คุมขังไปแล้ว” นายแก้วสรร ระบุ