วันนี้(8 ม.ค. 67 ) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา(ส.ว.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ. เพื่อพิจารณาการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า ที่ประชุมเห็นพ้องต่อการยื่นญัตติดังกล่าว
และขณะนี้ได้ปรับแก้เนื้อหาแล้วเสร็จ เตรียมให้ ส.ว.ร่วมเข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาต่อไป
เบื้องต้นจะให้ ส.ว.ได้เข้าชื่อ ในวันที่ 9 ม.ค. เป็นวันแรก ส่วนจะใช้เวลาเข้าชื่อจนกว่าจะครบจำนวนเมื่อใดนั้น ตนประเมินไม่ได้ แต่เมื่อได้ชื่อครบถ้วนจะส่งให้ประธานวุฒิสภาทันที เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับญัตติดังกล่าว มีรายละเอียดใน 7 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ ครอบคลุม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ การปฏิรูป
เนื่องจากที่ผ่านมาบทบาทสำคัญของ ส.ว. คือ การติดตามให้ข้อเสนอแนะรวมถึงรายงานการปฏิรูปประเทศหลายฉบับ ดังนั้น จึงต้องการรับฟังจากรัฐบาลว่าจะสานต่อหรือไม่อย่างไร รวมถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงประชามติ
“เวทีของวุฒิสภาครั้งนี้เป็นการรับฟัง ชี้แจง และให้ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่เวทีล้มรัฐบาล ดังนั้น เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือทั้งในการนำเสนอญัตติไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล เพราะตามมาตรา 153 กำหนดให้ซักถาม ครม.”
ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง อาจส่งคนอื่นมาชี้แจงแทนนั้น นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้จะให้ความเห็น ขอให้ผ่านกระบวนการเข้าชื่อเสนอญัตติให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนการเห็นพ้องของกมธ.นั้น ไม่ใช่มติที่บังคับผู้ใด การร่วมเข้าชื่อถือเป็นความสมัครใจ แต่คาดว่าจะได้รับการตอบรับจาก ส.ว.