ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาลเศรษฐา ครม.แตกคอ ยุบพรรคฝ่ายค้าน

12 ม.ค. 2567 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 04:45 น.

ปี 67 “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จะได้โชว์แม่ไม้บริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ หลังจากผ่าน 100 วันแรก ที่เต็มไปด้วยลูกระนาด ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงการเมืองไทย-เศรษฐกิจโลก

“ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” แห่งสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  วิเคราะห์ 3 ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาลเศรษฐา 1 ผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" โดยนิยามสถานะของรัฐบาลพรรคร่วม 11 พรรค 314 เสียง ว่า เป็น “ความเปราะบาง ที่มีเสถียรภาพครึ่งใบ”

แรงกระแทกคดีการเมือง-พรรคร่วมแตกคอ 

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” เริ่มต้นด้วยปัจจัยเสี่ยงภายใน-การเมืองไทย เป็นเรื่องหลัก ความเปราะบางทางการเมือง เป็นความเสี่ยงเบอร์ 1 หลังจากพฤษภาคมเป็นต้นไป เมื่อวุฒิสภา (สว.) หมดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจะส่ง “แรงกระเพื่อม” ในแวดวงการเมืองไทยโดยปริยาย 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้แปลกดี กลับกลายเป็นว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อเผด็จการ แต่กลับกลายเป็นว่า อาจจะส่งเสริมประชาธิปไตยที่เปราะบางก็ได้นะ เพราะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ถ้านายกฯ เศรษฐาไม่รอดก็ต้องเป็นคนที่อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเหลือไม่กี่คน เป็นคนอื่นไม่ได้”

“ดีไม่ดีการรอมชอมแบบนี้ ผมเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารยังมีเอี่ยวอยู่ พรรคที่โปรทหารอยู่ในรัฐบาลด้วย รัฐบาลก็ไม่ไปตัดหน้า หักหน้าทหารมากเกินไป”

“ก้าวไกลที่เป็นภัยต่ออนุรักษนิยมก็โดนกันเอาไว้เป็นฝ่ายค้าน ดีไม่ดีอาจจะโดนมรสุมต่าง ๆ นานา เพื่อไทยไปยันก้าวไกล เพื่อไทยร่วมกับพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติก็คือพรรคทหารเดิม และภูมิใจไทย ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพแบบครึ่งใบ”

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” มองว่า แม้เสถียรภาพของรัฐบาลจะมีความเปราะบาง “แต่ก็มีเสถียรภาพครึ่งใบ” 

“เสถียรภาพอันนี้เป็นหน้าต่าง ช่องทาง เป็นโอกาสทำให้เราเดินหน้าได้ในระดับหนึ่ง ต้องพยายามทรงตัวไว้ การเมืองภายในอย่าให้ล้ม ถ้าเกิดรัฐบาลแตกกัน หรือ มีการยุบพรรคฝ่ายค้านแล้วเกิดไม่ยอมขึ้นมา”

“เสถียรภาพการเมืองภายในสำคัญที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าเสถียรภาพภายในคงอยู่ได้ จะทำให้ความเสี่ยงอื่น ๆ รับมือได้มากขึ้น” 

ชี้ชะตาพิธา-พรรคก้าวไกลกระเทือนรบ.เศรษฐา 

เสถียรภาพรัฐบาลเศรษฐาในปี 2567 ผูกโยง-ขมวดปมกับคดีการเมืองอย่าปฏิเสธไม่ได้

ทั้งคดีหุ้นไอทีวีของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" และคดีล้มล้างการปกครองฯ ของพรรคก้าวไกลที่จะชี้ชะตาอีก 15 วันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่นับไฟสุมขอน "นักโทษวีไอพี" ชั้น 14 ที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" หากไม่ "ตัดไฟเสียต้นลม" 

ทั้งนี้ ในวันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำพิพากษาคดีถือหุ้นไอทีวี จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้วินิจฉัยว่านายพิธา ในฐานะสส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 

ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

วันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่นายธีรยุทธ์ สุวรรณเกสร ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า 

การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรางเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

วิกฤตเมียนมาร์-เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลก-การเมืองระหว่างประเทศ “ศ.ดร.ฐิตินันท์” ให้เรื่องการเมืองภายในเมียนมาร์เป็น “อันดับ 1”   

“เรื่องเมียนมาร์ใหญ่มาก ดีไม่ดีภายใน 6 เดือนนี้ ทหารอาจจะเอาไม่อยู่ จะโกลาหล จะเป็นสุญญากาศ”

ความเสี่ยงที่สาม คือ เรื่องเศรษฐกิจล่อแหลมขึ้น จากเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกในปี 67 

“เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน จีนเป็นเครื่องจักรใหญ่ที่สุดของภูมิภาค จะทำให้กระทบทั้งหมด นักท่องเที่ยวจีนจะลดลง กำลังซื้อจะลดน้อย” 

“ศ.ดร.ฐิตินันท์” ประเมินว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มากเท่าที่คิดถึงผลทวีคูณ (แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,00 บาท)  

“เมื่อมีตัวถ่วง ข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การศึกษา skilling ecosystem ระบบนิเวศน์การลงทุน ต้องมีความพร้อม จะไปเน้นซัพพลายเชนจุดใดบ้าง ต้องมีทรัพยากร แรงงาน มี skill มีความเอื้อต่อการเสียบเข้ากับลูกโซ่อุปทานโลกให้ได้”ศ.ดร.ฐิตินันท์ทิ้งท้าย