10 วาระร้อนการเมืองไทย ปี 2567 เขย่ารัฐบาล-ก้าวไกล

02 ม.ค. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 09:20 น.

10 วาระร้อนการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่อทั้ง รัฐบาลเศรษฐา พรรคก้าวไกล เศรษฐกิจ และ การเมืองไทย : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 2554

ศักราชใหม่ ปี 2567 ปี “มังกรทอง” การเมืองไทยก็ยังคงมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้ต้องติดตามอยู่หลายประเด็น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ประมวล “ปมร้อนการเมืองไทย” ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ 10 ประเด็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้ง รัฐบาลเศรษฐ ทวีสิน พรรคก้าวไกล เศรษฐกิจไทย และ การเมืองไทย  

เปิดศักราชใหม่ถล่มงบ 67 

โดย 10 ประเด็นดังกล่าว เริ่มต้นจากระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค. 2567 นี้  วิป 4 ฝ่าย อันประกอบด้วย ฝ่ายค้าน-รัฐบาล-ผู้นำฝ่ายค้าน-ตัวแทนคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นวันพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 วาระแรก 

 

ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุด จะโดนอภิปรายร่างพ.บ.ร.งบประมาณ เสมือนการซักซ้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเรื่อง “เงินดิจิทัล” หากการกู้เงินทำไม่ได้ รัฐบาลอาจหันมาใช้งบปี 2567 แจกเงินหมื่น ก็จะนำไปสู่การกระหน่ำจากฝ่ายค้านได้ด้วยเช่นกัน 

คดีหุ้นสื่อพิธา-แก้ม.112   

ถัดไปเป็น 2 คดีที่จะส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกล นั่นคือ คดี “พิธา ลิ้มเจริญรตน์” ถือหุ้นสื่อไอทีวี ศาลรัฐธรรรมนูญได้ปิดฉากการไต่สวนพยาน 3 ปาก ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 และนัดตัดสินในวันที่ 24 ม.ค. 2567 ต้องลุ้นว่า “พิธา” จะมีความผิด ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่     

 

อีกคดี กรณี พิธา และ พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ  ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยานบุคคล ไป เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 และนัดตัดสินวันที่ 31 ม.ค. 2567 ต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร จะสามารถ “ไปต่อ” ในเรื่องยุบพรรคก้าวไกลได้หรือไม่

นิรโทษกรรมรอเข้าสภา  

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 พรรคก้าวไกลยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อประธานสภาฯ รอบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาฯ

ร่างดังกล่าวครอบคลุมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2549 ของกลุ่มพันธมิตร จนถึงวันที่พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ หากการกระทำมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้พ้นความผิดและความรับผิด

แต่ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ถูกต่อต้านอย่างหนักจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรมครอบคลุมความผิด ม.112 ...รอดูกันไปว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดความร้อนแรงทางการเมืองขนาดไหน

“ทักษิณ”พ้นโทษ  

เรื่องของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ยังอยู่ในความสนใจของคอการเมืองตลอด โดยเจ้าตัวยังต้องอยู่ในสถานะนักโทษต่อไปถึงเดือน ก.พ. 2567 จำคุกครบ 6 เดือน จึงจะได้สิทธิพักโทษ หลังได้รับลดโทษเหลือ 1 ปี นับแต่ 22 ส.ค. 2566

ตามเกณฑ์พักโทษของกรมราชทัณฑ์นั้น ต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และ ต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือ ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป 

เว้นเสียแต่ว่า ได้อานิสงส์จาก "ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566" ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ก็อาจทำให้ ทักษิณ ได้กลับไม่อยู่บ้านก่อนถึงเดือน ก.พ. 2567 
...ว่ากันว่า เมื่อ ทักษิณ ได้กลับไปอยู่บ้าน ย่อมเป็น “เงา” ทาบลงมายัง “รัฐบาลเศรษฐา” แน่นอน 

                             10 วาระร้อนการเมืองไทย ปี 2567 เขย่ารัฐบาล-ก้าวไกล

ศึกซักฟอกรัฐบาล 

เรื่องร้อนถัดไป การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามัญครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.2566 - 9 เม.ย. 2567 “รัฐบาลเศรษฐา” จะต้องเผชิญกับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.151 ซึ่งอาจเป็น ครม.รายบุคคล หรือ ทั้งคณะ ก็ได้ 

ฝ่ายค้านเตรียมขยับยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ผ่านวาระ 3 เสร็จสิ้นไปแล้ว

กฤษฎีกาชี้ชะตาเงินดิจิทัล 

อีกเรื่องร้อนที่จะมีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย และ เศรษฐกิจไทย นั่นคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 50 ล้านคน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังรอคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบว่า จะออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ได้หรือไม่ 

หากกฤษฎีกาเห็นว่า “ทำได้” ก็จะเข้าสู่กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้าน ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา และ ส่งให้สภาพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในชั้น “สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา” แต่ด่านต่อไปที่จะต้อง “ลุ้นหนัก” ก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพราะเชื่อว่าจะมีคนส่งให้ศาลวินิจฉัยแน่นอน 

ปรับครม.แทนเก้าอี้ว่าง

ปี 2567 ต้องจับตาการ ปรับครม. ที่เวลานี้ยังมีโควตาตำแหน่ง รมต. ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ “พิชิต ชื่นบาน” เกิดปัญหาคุณสมบัติ และ พรรคพลังประชารัฐ มีโควตา “ไผ่ ลิกค์” ติดปัญหาคุณสมบัติเช่นกัน

น่าสนใจว่า หากมีการปรับ ครม. จะมีการปรับแทนเฉพาะ 2 ตำแหน่งที่ว่าง หรือ มีการเขย่าเก้าอี้ รมต.ใหม่ในบางตำแหน่ง หาก ปรับมาก เขย่ามาก ย่อมมีผลกระทบต่อรัฐบาล เพราะ “คนใน” ไม่อยากออก แต่ “คนนอก” อยากเข้า

ปี 67 เลือก ส.ว.ชุดใหม่  

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบัน 250 คน ซึ่งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค. 2567 นี้แต่ส.ว.ชุดนี้ จะอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

ส่วนส.ว.ชุดใหม่ จะมี 200 คน มาจากการเลือกกันเองของประชาชน ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และ ประสบการณ์ หรือ มีสถานะต่าง ๆ ...น่าจับตาว่ากระบวนการคัดเลือกจะโปร่งใส ไร้ข้อครหาขนาดไหน

แก้รธน.-พรบ.ประชามติ 

“รัฐบาลเศรษฐา”มีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้งใหม่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี 
ขั้นต้นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติก่อน ที่เป็นปัญหาคือ ฝ่าย ส.ว. คงค้านแน่ และหากก.ม.ผ่าน ก็ต้องมาเถียงกันต่อเรื่อง "คำถามประชามติ" จะต้องมีหน้าตาเป็นแบบไหน มีหลักเกณฑ์อย่างไร

หากการทำประชามติผ่านไปให้แก้ รธน.ได้ ก็ต้องมีการยกร่าง รธน.ใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากประชามติไม่ผ่าน การแก้ไข รธน. ก็ถูกล้มกระดานไปทันที

เลือกอบจ.ใหม่ 76 จังหวัด  

วันที่ 20 ธ.ค. 2567 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) จะหมดวาระลง หลังเป็นมาครบ 4 ปี 

โดยจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก และ นายก ใหม่ ใน 76 จังหวัด ภายใน 45 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด นั่นหมายความว่า จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ไม่เกินวันที่ 3 ก.พ. 2568 ... การเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ประเภทแรกนี้ โดยเฉพาะเก้าอี้ “นายก อบจ.” พรรคก้าวไกลประกาศออกมาแล้วว่า จะกวาดเก้าอี้ให้ได้มากที่สุด 

10 ประเด็นการเมืองไทยปี 2567 นี้ แต่ละเรื่องจะก่อให้เกิดความร้อนแรงได้มากน้อยขนาดไหนมารอดูกัน...