คดีนักการเมืองซุกหุ้น กลับมาถูกพูดถึงกันอีกครั้งในการปฏิบัติตามกฎหมายของการเป็นนักการเมืองที่ดี เมื่อล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) นับแต่วันที่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 จากกรณีการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า คดีลักษณะนี้ไม่ใช่คดีแรกที่เกิดขึ้น
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้มีนักการเมืองหลายรายที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีต้องเดินขึ้นศาลเพื่อฟังคำพิพากษาของคดีที่เกิดขึ้นในทำนองนี้มาแล้วหลายราย
ขอหยิบยก 5 อดีตรัฐมนตรีดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยซึ่งผลของคดีออกมาแตกต่างกันไปตามบริบทของคดีที่แตกต่างกัน ดังนี้
คดีเงินกู้ 45 ล้านบาทของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส จำกัด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการกู้ยืมจริงได้รับความสนใจจากสังคงเป็นวงกว้าง
หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริงแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไต่สวนขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ถูกชี้มูลความผิดฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีแจ้งการกู้ยืมเงิน 3 ฉบับ จำนวน 45 ล้านบาทว่า ไม่มีการกู้ยืมจริง
อย่างไรก็ดี เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พล.ต.สนั่น ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ตัดสินว่า มีความผิดฐานจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ทำให้ พล.ต.สนั่น ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ว่า ได้ขายหุ้นบริษัท มิติฟู๊ดโปดักส์ จำกัด 24,500 หุ้นให้ พ.ต.อ.ณัฏฐวุฒิ ยุวรรณ น้องเขย โดยระบุว่า ได้รับชำระราคามา 850,000 บาท อ้างว่าส่วนที่ค้างอีก 1.6 ล้านบาทนั้น ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้ ทั้งที่บริษัทดังกล่าวไม่มีการประกอบการและน้องเขยของนายยงยุทธไม่มีฐานะทางการเงินพอที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวได้ จึงเชื่อว่า ไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง
ต่อมา ป.ป.ช. ได้ยื่นร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยกรณีนายยงยุทธ จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองและคู่สมรส หรือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 263 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 119
โดยศาลพิพากษาจำคุก นายยงยุทธ เป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่เนื่องจาก นายยงยุทธไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนนายทักษิณ เป็นนายกฯ ต่อมา ป.ป.ช.ได้ชี้มูลขณะ พ.ต.ท. ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ
จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ระบุว่า ระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 ทักษิณ มีการโอนหุ้นในหลายบริษัทให้กับคนขับรถ แม่บ้านและคนเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นการปกปิดอำพราง และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540
ในวันที่ 18 มกราคม 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณา และในปีเดียวกันนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ให้ ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดในคดีซุกหุ้นด้วยมติ 8 ต่อ 7 เสียง เห็นว่า ไม่ได้กระทำการปกปิดหรือยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ
นายไชยา สะสมทรัพย์ ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลกรณีปกปิดข้อเท็จจริงกรณีนางจุไร สะสมทรัพย์ คู่สมรส ถือหุ้นของบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ปี2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 269 ตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากนาง จุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา ถือหุ้นในบริษัททรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกิน 5 % เป็นการขัดกับพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
ที่ประชุม กกต. ชุดที่มี นายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานกกต. มีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า การถือครองหุ้นของ นายดอน เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 ที่บัญญัติไม่ให้รัฐมนตรีถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือในกรณีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นที่ถือครองให้แจ้งประธานป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้โอนหุ้น จนอาจเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 และได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า ความเป็นรัฐมนตรีของไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5 ) ประกอบมาตรา 187 เนื่องจากเห็นว่า คู่สมรสได้มีการโอนหุ้น ให้กับบุคคลอื่นโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ภายในเวลา 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ทำให้เหลือหุ้นที่ถือครองไม่เกินร้อยละ 5 จึงไม่เป็นเหตุให้การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของนายดอนต้องสิ้นสุดลง