วันนี้ (2 ก.พ. 67) กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) นำโดย นายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มฯ ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายเอกพจน์ ถิรวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบและปฏิบัติการเร่งด่วน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า
การที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น หรือ ย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นที่เหมาะสมนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2563 หรือไม่
นายทรงชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสองประกอบมาตรา 72 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 2 ม.ค.2562 หรือ 11 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำ อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
โดย นายธนาธร เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่กลับพบว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 นายปฏิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติของ นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้า ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ก็แจ้งว่า ดูแล้วสมาชิกทุกคนเห็นตรงกันให้ตั้งกรรมาธิการ จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว มีจำนวน 25 คน
โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล มี นายธนาธร มาเป็นกรรมธิการด้วย มีระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน และ นายธนาธร ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ซึ่งตนเห็นว่า เมื่อนายธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครแล้ว ก็ไม่ควรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการเมืองอีก
"ผมจึงต้องใช้ช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่เขากระทำการเลี่ยงบาลีอย่างนี้มันถูกต้องหรือไม่ เมื่อเทียบกับคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองคนอื่นๆ อย่างเช่น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เขาก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาทำงานในทางการเมืองได้เลย
แล้วทำไม นายธนาธร จึงทำได้ หรือเพราะเป็นนักการเมือง และถ้าเป็นผมซึ่งเป็นประชาชน ถ้าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จะสามารถทำอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่ จึงอยากให้ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ให้ชัดเจน"