จากกรณีที่ศาลเเขวงปทุมวันมีคำพิพากษา ในคดีการร่วมชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 มีจำเลยในคดีนี้ 8 คน ประกอบด้วย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ ,นายธนวัฒน์ วงค์ไชย ,นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนาย ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร
คำพิพากษาสั่งให้ จำคุก 4 เดือน ปรับ 20,200บาท จำเลย 8 คน แต่รอลงอาญา 2 ปี ในความผิด ตามพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ถึงผลที่จะตามมาจากคำพิพากษาในคดีนี้ ดร.สติธร กล่าวว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งอาจอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกาว่าให้จำคุก จะส่งผลให้ ผู้ที่ต้องคำพิพากษาหมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก
ซึ่งในขณะนี้ เป็นคำพิพากษาของศาลแขวง ซึ่งถือเป็นศาลชั้นต้น ยังไม่มีผลทำให้ผู้ที่ได้รับคำพิพากษาขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จะมีผลทันทีในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 8ราย ยังไม่มีใครดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยังไม่ส่งผลกระทบจากคำพิพากษาในชั้นนี้ อย่างไรก็ตามในอนาคตทั้ง 8 บุคคล ได้หมดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอันเป็น ผลจากคำพิพากษานี้แล้ว
สำหรับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) ต่อไปได้จนกว่า จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้ หรือมีอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นๆเกิดขึ้น เช่นหากพรรคก้าวไกลถูกยุบ จากกรณีล้มล้างการปกครอง อาจส่งผลให้ถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตได้ เพราะมีการเทียบเคียงกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในฐานความผิดเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่กรรมการบริหารหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี
นำมาซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากความผิดของพรรคก้าวไกล คือการล้มล้างการปกครอง อาจความรุนแรงกว่ากรณีของพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวาง บรรทัดฐาน เช่นไรเนื่องจากในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้