วันนี้(6 ก.พ. 67) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกกล่าวหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นายประยุทธ กล่าวว่า คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ได้รับแจ้งสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจากพนักงานสอบสวน ปอท.โดยมี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม เป็นผู้กล่าวหานายทักษิณ ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินีและรัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
เหตุเกิดเมื่อ 21 พ.ค. 2558 ที่ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 โดยการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทำนอกราชอาณาจักรจึงเป็นหน้าที่ของ อสส.ในการดูแลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 20
ในยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2559 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายทักษิณ ตามข้อสั่งฟ้อง ตามที่พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องมา แต่เนื่องจากผู้ต้องหาอยู่ระหว่างหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีจะหมดอายุความ 21 พ.ค.2573
ต่อมา วันที่ 22 ส.ค.2566 นายทักษิณ เดินทางกลับมาไทย และถูกควบคุมตัวเพื่อรับโทษในคดีอาญาในคดีอื่น พนักงานสอบสวนนำหมายจับไปแจ้งอายัดตัวกับกรมราชทัณฑ์แล้ว
ต่อมาเมื่อ 17 ม.ค.2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะได้ร่วมกับพนักงานสอบสวน ตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมพฤติการณ์ในคดีให้ นายทักษิณ รับทราบแล้ว และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ต่อมาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พร้อมหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการที่ดูแลเพื่อรวบรวมส่งต่อ อสส.พิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานกิจการคดี อัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณา และทำความเห็นเบื้องต้น เพื่อส่งให้ อสส.มีความเห็นและมีคำสั่งทางคดีต่อไป
นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการปฏิบัติตรวจสำนวนของพนักงานอัยการ หากเป็นสำนวนที่สมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งการให้การ พยานหลักฐานของฝ่ายผู้กล่าวหา พร้อมทั้งคำให้การและพยานของฝ่ายผู้ต้องหา จะมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือ สั่งไม่ฟ้อง
แต่ ณ เวลาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการนั้น ฝ่ายผู้ต้องหายังคงหลบหนีอยู่ จึงยังไม่ได้สอบปากคำ และไม่มีหลักฐานจากฝ่ายผู้ต้องหา ซึ่งระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ จะกำหนดให้อัยการทั่วประเทศ ลงความเห็นเพียงว่า ควรสั่งฟ้อง เช่นเดียวกับคดีนี้ เพราะสำนวนยังไม่ครบถ้วน ต้องรอได้ตัวมาและฟังความเห็นทุกฝ่าย ก่อนวินิจฉัยอีกครั้ง
นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับ นายทักษิณ ซึ่งทางผู้ต้องหาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแนบมาด้วย จึงเป็นประเด็นให้ผู้รับผิดชอบทางคดีต้องรวบรวมพยานหลักฐาน นำเสนออัยการสูงสุด เพื่อลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้สามารถสั่งได้ 3 แนวทาง คือ สั่งสอบเพิ่ม หากมีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่าง สิ้นความสงสัย, หากสำนวนพร้อมสมบูรณ์ ก็จะยืนตามความเห็นเดิม คือ สั่งฟ้อง, หากหลักฐานพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ก็จะสั่งไม่ฟ้อง
อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดจะมีความเห็นและคำสั่งอย่างไร เป็นการเร็วเกินไปที่จะไปก้าวล่วงการพิจารณาในส่วนนี้ เพราะสำนวนถูกส่งมาที่ฝ่ายกิจการฯ เพื่อคัดกรอง ตรวจพยานหลักฐาน ลงความเห็น ก่อนเสนอรองอัยการสูงสุดที่กำกับดูแล จากนั้นจะไปถึงขั้นเสนออัยการสูงสุด
ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า ช่วงที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องและรอนำตัว นายทักษิณ กลับมานั้น ขณะนั้นยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ล่าสุดเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา และทราบจากข่าวว่า นายทักษิณ ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย โดยจะนำมาพิจารณาในการทำความเห็นของผู้บังคับบัญชา
ขณะที่ นายนาเคนทร์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ยังไม่มีคำสั่งพักโทษ นายทักษิณ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัด และกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัว เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566
“คดีนี้หากมีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสอนให้มารับตัว นายทักษิณ ไว้ มาดำเนินการควบคุม ซึ่งต้องพิจารณาจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือ นำตัวไปขอศาลฝากขัง ก่อนจะแจ้งผลการควบคุมตัวมาที่พนักงานอัยการว่าได้มีการควบคุมตัว นายทักษิณ อย่างไร”