KEY
POINTS
- ปี 2559 อัยการเห็นควรสั่งฟ้อง “ทักษิณ” คดี ม.112 ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอ เหตุเกิดปี 2558 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้
- อัยการสูงสุดแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปี โดยคดีจะหมดอายุความปี 2573
-หากมีการพักโทษ “ทักษิณ” ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสอนให้มารับตัวไปดำเนินการควบคุม ดำเนินคดี
ก่อนที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในข่ายได้รับการ “พักโทษ” ในวันที่ 18 ก.พ. 2567 นี้ ตามโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรือ มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จู่ๆ ก็มีเอกสาร “หลุด” ออกมา 2 ฉบับ ประกอบด้วย
เอกสารฉบับแรก ส่งถึงประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เผยอัยการสูงสุด และตำรวจ ปอท.แจ้งถึงคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของนายทักษิณ
และ เอกสารฉบับที่ 2 เป็นหนังสือจาก พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงศ์ รองผู้บังคับการฯ ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งข้อมูลการดําเนินคดี อ้างถึง หนังสือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ 01/2560 ลงวันที่ 25 ก.ย.2566 ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ขอทราบข้อเท็จจริงและความคืบหน้าเกี่ยวกับการดําเนินคดีที่เกี่ยวข้องมาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
แจ้งข้อหา“ม.112”ทักษิณ
ทำให้เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกฯ และ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกฯ ต้องร่วมกันแถลงข่าวด่วน ชี้แจงกรณี นายทักษิณ ถูกกล่าวหาคดี ม. 112
เริ่มจาก นายประยุทธ เพชรคุณ ที่ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้รับแจ้งสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน ปอท. โดยมี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม เป็นผู้กล่าวหา นายทักษิณ ข้อหาร่วมกันดูหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชินีและรัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ
เหตุเกิดเมื่อ 21 พ.ค. 2558 ที่ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิด มาตรา 112 โดยการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทำนอกราชอาณาจักรจึงเป็นหน้าที่ของ อสส.ในการดูแลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20
ในยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้ตรวจพิจารณาสำนวนและมีความเห็น เมื่อ 19 ก.ย. 2559 โดยเห็นควรสั่งฟ้อง นายทักษิณ ตามที่พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องมา แต่เนื่องจากผู้ต้องหาอยู่ระหว่างหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีจะหมดอายุความ 21 พ.ค. 2573
อายัดตัว“ทักษิณ”
ต่อมา วันที่ 22 ส.ค. 2566 นายทักษิณ เดินทางกลับไทย และถูกควบคุมตัวเพื่อรับโทษในคดีอาญาในคดีอื่น พนักงานสอบสวนนำหมายจับไปแจ้งอายัดตัวกับกรมราชทัณฑ์แล้ว
ขณะที่ เมื่อ 17 ม.ค. 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ได้ร่วมกับตำรวจเข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมพฤติการณ์ในคดีให้ นายทักษิณ รับทราบแล้ว และ ทักษิณยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ต่อมาอธิบดีอัยการฯ ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน พร้อมหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการที่ดูแลเพื่อรวบรวมส่งต่อ อสส.พิจารณา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานกิจการคดี อัยการสูงสุด อยู่ระหว่างการพิจารณา และทำความเห็นเบื้องต้น เพื่อส่งให้ อสส.มีความเห็นและมีคำสั่งทางคดีต่อไป
รอ“อสส.”ชี้ขาดขั้นตอนสุดท้าย
นายประยุทธ กล่าวว่า ณ เวลาที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการนั้น ฝ่ายผู้ต้องหายังคงหลบหนีอยู่ จึงยังไม่ได้สอบปากคำ และไม่มีหลักฐานจากฝ่ายผู้ต้องหา คดีนี้สำนวนยังไม่ครบถ้วน ต้องรอได้ตัวมาและฟังความเห็นทุกฝ่าย ก่อนวินิจฉัยอีกครั้ง
นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทีมพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับ นายทักษิณ ซึ่งทางผู้ต้องหาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแนบมาด้วย จึงเป็นประเด็นให้ผู้รับผิดชอบทางคดีต้องรวบรวมพยานหลักฐาน นำเสนออัยการสูงสุด เพื่อลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย
ทั้งนี้สามารถสั่งได้ 3 แนวทาง คือ
สั่งสอบเพิ่ม หากมีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่าง สิ้นความสงสัย,
หากสำนวนพร้อมสมบูรณ์ ก็จะยืนตามความเห็นเดิม คือ สั่งฟ้อง
และ หากหลักฐานพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ก็จะสั่งไม่ฟ้อง
นายนาเคนทร์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่งพักโทษ นายทักษิณ แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัด และกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัว เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566
“คดีนี้หากมีการพักโทษ ทางเรือนจำจะต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสอนให้มารับตัว นายทักษิณ มาดำเนินการควบคุม ซึ่งต้องพิจารณาจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือ นำตัวไปขอศาลฝากขัง ก่อนจะแจ้งผลการควบคุมตัวมาที่พนักงานอัยการว่าได้มีการควบคุมตัว นายทักษิณ อย่างไร”
ม.112ไม่เป็นธรรมทักษิณ
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ถูกอายัดตัวในคดี ม.112 ว่า คิดว่าไม่มี ข่าวค่อนข้างจะคลาดเคลื่อน ส่วนที่มีการระบุว่าเป็นคดีในปี 2559 นั้น เป็นกรณีที่ท่านพูดที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร
“เท่าที่ตรวจสอบในขณะนั้นที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายจับ ท่านไม่มีโอกาสได้แก้ตัวหรือชี้แจง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ายังไม่มีความเป็นธรรมกับท่าน เพราะในกฎหมายนั้น กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ แต่กรณีดังกล่าวท่านอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้มีโอกาสที่จะชี้แจงในส่วนที่เป็นคุณว่าท่านไม่ได้กระทำความผิด”
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าคดีมาตรา 112 อยู่ในระหว่างชี้แจงและสอบสวนว่า นายทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหาใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า ก็คงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ มั่นใจว่ามีหลายประเด็นที่ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเหตุเกิดต่างประเทศ และคลิปที่นำมาเผยแพร่เป็นเพียงบางท่อนบางตอน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ม.112แค่กระบวนการธุรการ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุถึงกรณี นายทักษิณ ถูกดำเนินคดี ม.112 ว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะเชื่อว่าการอายัดตัว คุณทักษิณ เป็นเพียงหนังสือเอกสาร และขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถจะดำเนินการอายัดตัวคุณทักษิณ ได้เหมือนกับนักโทษทั่วไป
เมื่อจะได้รับการปล่อยตัว และมีหมายขออายัดตัวต่อ เป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับนักโทษทุกคน แต่สำหรับ คุณทักษิณ เรื่องแค่นี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ เล็กน้อยมาก แม้แต่ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาให้จำคุก ก็ยังไม่เคยถูกจำคุกในเรือนจำแม้แต่วันเดียว
“ขอให้ทำใจได้เลยว่าการอายัดตัว คุณทักษิณ เป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเอกสารเท่านั้น คุณทักษิณได้รับการประกันตัว ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างดี ดูแลยิ่งกว่าไข่ในหินเสียอีก”
++++++
“ทักษิณ”ครบพักโทษ 18 ก.พ.นี้
กรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเข้าสู่หลักเกณฑ์การพักโทษกรณีพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรือ มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โดยจะครบกำหนดการพักโทษ ในวันที่ 18 ก.พ. 2567 นั้น
ตามขั้นตอนพักโทษ “เรือนจำ” ต้องส่งชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการพักโทษที่พิจารณารายชื่อนักโทษ ซึ่งจะประชุมทุกเดือน จากนั้นส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้พิจารณาอนุมัติหรือไม่ตามขั้นตอน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงกรณีจะทราบอย่างไรว่าวันที่ 18 ก.พ. 2567 นี้ นายทักษิณ จะได้รับการพักโทษ ว่า ทางคณะกรรมการต้องดูทุกเรื่อง และให้คณะกรรมการของราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ รวม 19 คน ทั้งกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ศาล อัยการ ตำรวจ โดยการพักโทษจะมีทุกเดือน แต่ละเดือนมีหลายร้อยคน
ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าในเอกสารการพักโทษมีชื่อของ นายทักษิณ ด้วยหรือไม่ แต่การพิจารณาพักโทษจะพิจารณาเป็นเหตุไป บางเหตุก็ไม่ให้พักโทษ การพักโทษก็คือ ยังทำโทษอยู่