16 กุมภาพันธ์ 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซุกหุ้นฉบับเต็มเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น นายนิวัฒน์ชัย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยรายละเอียดขั้นตอนของ ป.ป.ช. หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
เบื้องต้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายศักดิ์สยาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยในการตรวจสอบจะมีประเด็นว่า บริษัทที่อ้างว่า เป็นของนายศักดิ์สยาม (หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชั่น) และมีนอมินีถือหุ้นแทนตามคำวินิฉัยของศาล
คลิกอ่านรายละเอียด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรักชัน
"เราต้องเอาคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาดูประกอบกันว่า สิ่งที่ศาลวินิจฉัยมีข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร ดังนั้น ในประเด็นถ้าเป็นของนายศักดิ์สยามตามคำวินิจฉัย นายศักดิ์สยามได้ยื่นบัญชีของบริษัทนี้เข้ามาด้วยว่า เป็นทรัพย์สินของตัวเองหรือไม่ และเหตุใดถึงไม่ยื่น หรือมีการปกปิดเช่นใด
กระบวนการขั้นต่อไป กรณีถ้ามีมูลก็ต้องดำเนินการแจ้งข้อหาให้ นายศักดิ์สยามได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อหาในประเด็นนี้ก่อนที่จะพิจารณาวินิจฉัยซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจสอบบัญชีที่ระบุว่า จงใจปกปิดยื่นเท็จหรือไม่
ส่วนประเด็นกรณีความร่ำรวยปกติหรือไม่ต้องตรวจสอบเปรียบเทียบบัญชีว่า ถ้ามีบริษัทไม่ได้ยื่นมาและมูลค่าไม่มีที่มาที่ไป ร่ำรวยหรือไม่ เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ต้องไปพิจารณาต่อไป
ต่อข้อซักถามที่ว่า กรณีหากพบว่า มีทรัพย์สินหรือความร่ำรวยผิดปกตินั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีผู้ร้องก่อน ป.ป.ช.จะดำเนินการหยิบขึ้นมาพิจารณาได้เองโดยยืนยันว่า
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหยิบยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นมาได้เลยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน เว็บไซต์ บัตรสนเท่ห์ต่าง ๆ หากไม่มีตัวผู้ร้องทุกข์ ป.ป.ช.หยิบยกขึ้นมาได้
ทั้งนี้ สำหรับสำนวนคดีนี้ ป.ป.ช.จะต้องเชิญผู้ถูกร้อง ผู้ถูกล่าวหาชี้แจงซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องว่า
เรื่องต่าง ๆ ที่ร้องเรียนมาต้องเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อหาก่อน จากนั้นจึงจะสรุป ไม่ใช่อยู่ ๆ ว่ารวบรวมพยานหลักฐานเเล้ว ชี้มูลข้างเดียว ไม่สามารถทำได้เพราะกระบวนการจะผิดขั้นตอน ป.ป.ช.อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ว่า ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะอยู่ระหว่างการดำเนินการเเละเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรแต่ต้องมาดูในแง่มุมก่อนว่า ผูกพันในลักษณะไหน เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวทิ้งท้าย