KEY
POINTS
ยังคงต้องจับตาดูต่อสำหรับชะตากรรม ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำธุรกรรมอำพราง กรณีการซื้อขายหุ้น หจก. บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ศาลมติเสียงข้างมากวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฎิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566
ท่ามกลางกระแสข่าวลือรุนแรง ถึงช่วงจังหวะปรับครม. พรรคภูมิใจไทยซึ่งได้ครองเก้าอี้กระทรวงสำคัญหลายกระทรวง ย่อมถูกจับจ้อง และอยู่ในสถานการณ์อำนาจต่อรองต่ำ จากเหตุที่เกิดขึ้นกับนายศักดิ์สยามในครั้งนี้ เนื่องจากอาจลุกลามถึงขั้นยุบพรรคภูมิใจไทย เพราะไม่ว่าจะเป็น นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ หรือทนายภัทรพงศ์ ศุภักษร ล้วนแต่ได้ยื่นเรื่องกรณีเงินบริจาคเข้าพรรคภูมิใจไทย ให้กกต. ส่งต่อเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทยแล้วทั้งสิน
ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดชะตากรรมต่อไปกับนายศักดิ์สยาม
อ.ปริญญาไล่เลียงดาบต่อไป จากเบาไปหาหนักว่า ผลลำดับถัดไปซึ่งเบาที่สุด ที่จะเกิดขึ้นกับนายศักดิ์สยามต่อจากนี้คือ จะถูกห้ามเป็นรัฐมนตรี 2 ปีนับจากมีคำวินิจฉัย ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 160 ข้อ8
การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการซื้อขายหุ้นกับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เป็นนิติกรรมอำพราง นั่นหมายความว่าหุ้นของบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ยังคงเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงทำให้อาจถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยว่า มีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินอันเป็นเท็จ มีความผิดฐานซุกหุ้น ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน อย่างที่เกิดขึ้นกับนาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ ก็จะส่งผลให้นายศักดิ์สยาม มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 ข้อ8 แม้จะมีคำพิพากษา ให้จำคุก แต่รอการลงโทษก็ตาม
การที่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม ในขณะที่นายศักดิ์สยามดำรงตำแหน่ง รมต. คมนาคม และยังคงเป็นเจ้าของ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อาจทำให้มีความผิดฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูลงานรัฐ
อ.ปริญญา ได้วิเคราะห์ถึงความผิดจาก กรณีนายศักดิ์สยาม ต่อการเข้าข่ายฟอกเงินหรือไม่ว่า เป็นเพียงมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินคดีต่อได้ แต่นิติกรรมอำพรางไม่ได้หมายถึงการฟอกเงินเสมอไป เพราะพฤติการณ์ซื้อขายหุ้นที่มิได้เกิดขึ้นจริงร่วมกับผู้ที่เป็นนอมินี มิใช่การกระทำเพื่อฟอกเงินระหว่างกัน
สำหรับการยุบพรรคภูมิใจไทยนั้น อ.ปริญญา แสดงความเห็นว่า เป็นการมองที่ไกลไปมาก เพราะกรณีการรับเงินบริจาค ที่รู้หรือควรจะรู้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินที่ได้รับบริจาค ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องตีความว่ากรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เนื่องจากเจตนารมย์ของกฎหมายมาตรานี้ เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคที่ได้มาจากการฟอกเงิน การค้าอาวุธสงคราม ค้ายาเสพติด ซึ่งต้องมีการปรากฏหลักฐานว่า หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้กระทำการเช่นนี้ แต่จากที่ปรากฏเป็นการทั่วไป หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ไม่ได้ทำการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม หรือก่ออาชญากรรมข้ามชาติใดๆ
นอกจากนั้นยังต้องคำนึงด้วยว่า พรรคการเมืองซึ่งรับเงินบริจาครู้หรือไม่ถึงแหล่งที่มาของเงินนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้หากมีผู้ยื่นร้องต่อกกต. ก็ต้องมีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปชี้แจง และตีความว่าเงินของ หจก. บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ถือว่าได้มาโดยมิชอบหรือไม่
และเมื่อบริจาคให้กับพรรคภูมิใจไทย ทางพรรครู้หรือไม่ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ เพราะ หจก.เจริญคอนสตรัคชั่น ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นการเปิดเผยไม่ใช่บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบังหน้าแต่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ฉะนั้น จึงต้องรอดูการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลำดับถัดไป