การโดนทุบ-ยุบไปถึง 2 ครั้ง พรรคก้าวไกลอาจต้องคิดใหม่-ทำใหม่ ไม่ให้เดินตามรอยเท้ารุ่นพี่ แถวหนึ่ง-แถวสอง
พิษจากมรดกคณะรัฐประหารคสช.side effect - ตกค้าง มาถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน คือ “กฎหมายลูก” พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92
"กฎหมายพรรคการเมือง" ถูกหยิบขึ้นมา “เด็ดหัว” พรรคก้าวไกลอีกครั้ง หลังจาก คณะกรรมการ กกต.ส่งไปรษณีย์ไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัย “ยุบพรรค” เป็น “ดาบสอง” คดีล้มล้างการปกครอง
กาง "กฎหมายพรรคการเมือง" มาตรา 92 – มูลฐานความผิด “ยุบพรรค”
มาตรา 92 เมื่อคณะ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
1.มาตรา 20 วรรคสอง พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน
2.มาตรา 28 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
3.มาตรา 30 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก
4.มาตรา 36 สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจะจัดตั้งขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่ได้
5.มาตรา 44 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน
6.มาตรา 45 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
7.มาตรา 46 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราฃการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ
วรรคสอง ห้ามมิให้ผู้ใด ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลออื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ
8.มาตรา 72 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้วว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบด้วยมาตรานี้กรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคปล่อยกู้พรรคตัวเอง)
9.มาตรา 74 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก
(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร
(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พิจารณาตามที่ปรากฎในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฎชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญญาชาติไทย
(4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(5) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
(6) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ตามที่คณะกรรมการกำหนด
วรรคสอง ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวที่ไม่ใช่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
มาตรา 92 วรรคท้าย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ขณะนี้คณะกรรมาธิการการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ไอติม-พริษฐ์ นั่งเป็นประธาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษา “กฎหมายพรรคการเมือง” ว่าด้วยการยุบพรรค
โดยตั้งข้อสังเกต เหตุผลการยุบพรรค-ฐานความผิดที่จะนำไปสู่การยุบพรรคเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ การกำหนดบทลงโทษ ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไม่กำหนดระยะเวลา เปิดช่องให้ใช้ “ดุลพินิจ” ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เพื่อนำไปสู่การยื่นแก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองต่อไป
โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน ภายใต้ร่มใหญ่ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาความเห็นของพรรคการเมืองเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
โดยคณะอนุกรรมการฯ เรียกประชุม เพื่อพิจารณาความเห็นของพรรคการเมืองเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อส่งเสริมพรรคการเมืองให้มีความยึดโยงกับประชาชน โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง 20 พรรคเข้าร่วมประชุม หลังจากนี้จะมีรายงานการศึกษาออกมา
อีกหนึ่งในอาวุธทำลายล้างพรรคก้าวไกลที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 คือ “มาตรฐานจริยธรรม” ที่บรรจุอยู่ในมาตรา 219 ซึ่งจะนำไปสู่ “ดาบสาม” ตัดสิทธิทางการเมือง สส.44 คนของพรรคก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อแก้ไขร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
หมวด 4 ข้อ 27 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
ก้าวไกลพลิกเกมหาพรรคการเมืองแนวร่วมรื้อกฎหมายพรรคการเมือง-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้เกมยุบพรรค-ตัดสิทธิทางการเมืองไม่ให้ซ้ำรอย "พรรครุ่นพี่"