นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี หรือ “งานย่าโม” ประจำปี 2567 โดยทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการ ให้เกิดการจัดงานยิ่งใหญ่ รวมทั้งเป็นวาระสำคัญของเมืองนครราชสีมา 556 ปี
สำหรับงานย่าโม จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2567 รวม 12 วัน 12 คืน โดยในช่วงเช้าของวันที่ 24 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปเป็นประธานประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าสไบห่มองค์ท้าวสุรนารี เป็นผ้าสไบถัก/ปัก สีม่วง-ทอง ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญ
การเดินทางมาเป็นประธานประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าสไบห่มองค์ท้าวสุรนารี ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จะมีคณะร่วมด้วย อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้ง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ทั้ง 12 เขต โดย นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. นครราชสีมา ร่วมต้อนรับ
สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังออกแบบและถักสไบห่ม “ย่าโม” คือนางพัชรินทร์ นพคุณางกูล ครูบำนาญโรงเรียนวัดสระแก้ว ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปี เจ้าตัวยืนยันทำด้วยใจศรัทธาโดยไม่คิดเงิน ขอถวายให้ “ย่าโม” โดยใช้เวลาในการปักผ้าสไบนานกว่า 2 เดือนเต็ม ทำจากผ้าไหมที่หนากว่าผ้าไหมธรรมดา 2 เท่าและความยาวประมาณ 2.50 เมตร เนื่องจากวันที่ 23 มีนาคม 2567 ตรงกับวันเสาร์จึงเลือกใช้สีของผ้าประจำวันเป็นสีที่จะเปลี่ยนใหม่ให้องค์ย่าโม ส่วนผ้าผืนเดิมทางกรมศิลปากรจะเก็บไว้เป็นอนุสรณ์
นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจของจังหวัดนครราชสีมาในการจัดงานปีที่ผ่านมา ซึ่งกลับมาจัดเป็นปีแรกหลังการระบาดของโควิด-19 พบว่า ผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมงาน ส่วนใหญ่ตั้งใจมาซื้อสินค้าภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า OTOP อาหาร ของที่ระลึกต่างๆ รองลงมาคือ ต้องการมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ต้องการมาดูคอนเสิร์ต ต้องการมาดูการแสดงเวทีกลาง ต้องการเล่นเกมส์หรือเครื่องเล่น และอื่น ๆ
หากดูจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 โดยประเมินจากการจำหน่ายบัตร ร้านนาวากาชาด และการจำหน่ายสินค้า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมงานทั้งสิ้น 419,819 คน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วมีนักท่องเที่ยวมา เที่ยวชมงาน ไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 คน
สำหรับยอดรวมเฉพาะรายได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกบูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการจำหน่ายสลากกาดชาด โดยจากเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา และ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีรายได้รวมทั้งสิ้น 18,763,799 บาท
โดยส่วนใหญ่ เป็นรายได้จากการจำหน่ายอาหารและนวดแผนไทย จำนวน 11,574,914 บาท รองลงมา คือ รายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน 5,798,105 บาท และรายได้ จากการจำหน่ายบัตรนาวากาชาดจำนวน 1,390,780 บาท
การจัดงานปีนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมากไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะถึง 5 แสน คน เพราะปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่าโคราชจะมีการจัดงานย่าโม ฉะนั้นจึงคาดว่ามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน และประเมินว่า จะมีเงินสะพัดในงานนี้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสดีที่จังหวัดนครราชสีมาจะส่งเสริมเรื่อง Soft Power โดยเฉพาะ "กางเกงแมว"ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก มีการต่อยอดสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจเมืองโคราชคึกคัก มีร้านจำหน่ายกางเกงแมวเกิดขึ้นหลายแห่งในโคราชทั้งตามห้างสรรพสินค้า และตามตลาดทั่วไป มีบางคนยึดอาชีพขายกางเกงแมวเป็นอาชีพหลักก็มี มีนักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาโคราช พลาดไม่ได้ที่จะซื้อกางเกงแมวไปเป็นของฝาก เหมือนการซื้อหมี่โคราช หรือของฝากต่าง ๆ จากโคราช ในงานย่าโมปีนี้ จะมีการออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้เช่นกัน
"ทราบว่าเรายังมีการต่อยอดเรื่องของ Soft Power โคราชเป็นเรื่อง ART Toy รูปย่าโม เป็นผลงานของนักศึกษา มทร.อีสาน ซึ่งเป็นความคิดของเยาวชนที่สร้างชิ้นงานขึ้นมาจำหน่ายสร้างรายได้ ทำให้เมืองโคราชเป็นที่รู้จักมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการส่งเสริมกันต่อไป"
ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองโคราชให้คึกคักได้อย่างมากในช่วงงานทั้ง 12 วัน 12 คืน เพราะในการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ระดับจังหวัดนี้ ไม่ได้ส่งผลดีเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับหลากหลายธุรกิจที่อยู่ภายในงาน ทั้ง โอท็อป ร้านค้าย่อย สินค้าเกษตร ร้านขายของฝาก คนจัดคอนเสิร์ต ศิลปิน และผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่จะได้รับอานิสงค์จากการจัดงานในครั้งนี้ด้วย
ขณะที่นายวิศรุต พิศาล หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS กล่าวว่า เพื่อเป็นรองรับการใช้งานของลูกค้าในช่วงงานย่าโม ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทีมวิศวกรของ AIS ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้เตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายสื่อสารระบบ 4G/5G โดยมีการติดตั้งสถานีฐานชั่วคราวเพื่อเพิ่มช่องสัญญาณ ครอบคลุมบริเวณพื้นที่จัดงานรอบลานอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี ไปจนถึงศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่โดยรอบพื้นที่จัดงานภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีการใช้ระบบ AI ในการออกแบบและปรับให้เครือข่ายมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานที่สูงขึ้น และยังมีการติดตามปริมาณการใช้งานในพื้นที่แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานระบบสื่อสารและบริการดิจิทัลอย่างราบรื่นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะท่านท้าวสุรนารี
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3977 วันที่ 24 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2567