ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.2567 นี้ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของบรรดาสมาชิกวุฒิสมาชิก(ส.ว.) 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความสิ้นสุดลงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน
หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า จะรับคำร้องของ ส.ว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และหาก “รับ” จะพิจารณาว่า นายเศรษฐา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ และ นายพิชิต ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่
สำหรับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่จะชี้ชะตา “นายกฯ เศรษฐา” และ พิชิต ชื่นบาน ประกอบด้วย
1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จบการศึกษา
-ปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง (เกียรตินิยมอันดับ 2)
-คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ปริญญาเอก INTERNATIONAL STUDIES WASEDA UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น
2.ปัญญา อุดชาชน อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
จบการศึกษา
-ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหง
-นิติศาสตร์บัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
-นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-M.A. (Public Administration), U.S.A.
-Ph. D. (Public Administration), U.S.A.
3.อุดม สิทธิวิรัชธรรม อดีตประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา, อดีตนายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ
ประวัติการศึกษา
-นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ ๒๘
-นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.วิรุฬห์ แสงเทียน อดีตประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
ประวัติการศึกษา
-นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
5.จิรนิติ หะวานนท์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
ประวัติการศึกษา
-นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-เนติบัณฑิตไทย (ลำดับที่ 1 สมัย 28) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
-LL.M. (Master of Law, Harvard University)
-M.C.L. (Master of Comparative Law, George Washington University)
-S.J.D. (Doctor of Juridical Science, George Washington University)
6.นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา, อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
ประวัติการศึกษา
-รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
-Master of Arts (International Relations) , Northern Illinois University (Fulbright Scholarship)
7.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
ประวัติการศึกษา
-ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
8.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประวัติการศึกษา
- นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทและปริญญาเอกทางกฎหมายอาญา (Diplôme d'études approfondies et Doctorat en Droit Pénal) มหาวิทยาลัย Nancy II ประเทศฝรั่งเศส
9.สุเมธ รอยกุลเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
ประวัติการศึกษา
- นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสยาม
- นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ทั้งนี้ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 บัญญัติว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
และหากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ผลคือสมาชิกผู้นั้นจะพ้นจากตำแหน่งนับแต่ “วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่” แต่จะไม่กระทบต่อบรรดากิจการที่สมาชิกผู้ถูกร้องได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง
23 พ.ค.นี้ มารอลุ้นกันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะรับคำร้องของ 40 ส.ว.ไว้วินิจฉัยหรือไม่ และจะสั่งให้ เศรษฐา ทวีสิน หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และ พิชิต ชื่นบาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่