ระบบรับสมัคร ส.ว.ล่ม หลายจังหวัดล่าช้านานนับชั่วโมง ยอดขอเอกสาร 34,000 ใบ

20 พ.ค. 2567 | 05:06 น.
อัพเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2567 | 05:12 น.

ระบบรับสมัคร ส.ว. วันแรกล่ม หลายจังหวัดทำล่าช้า เฉลี่ย 1 คน นานนับชั่วโมง กกต.เร่งประสาน“มหาดไทย”ดำเนินการแก้ไข พื้นที่ กทม มีรายงานฮั้ว-รวมตัวแลกคะแนน เผยมีผู้ขอรับใบสมัครส.ว.สูงถึง 34,000 ใบ

วันนี้ (20 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ช่วงเช้าวันแรก เป็นไปอย่างล่าช้า หลังพบว่าระบบล่ม 
โดยมีรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้รับรายงานจากจังหวัดต่างๆ ว่าระบบรับสมัคร ส.ว.วันแรกล่ม

โดยจากการตรวจสอบพบว่า เป็นระบบทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย และให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขแล้ว   ซึ่งหลายจังหวัด ได้ทยอยรายงานกลับมายังสำนักงาน กกต.แล้วว่า หลายจังหวัด ระบบได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว 

ทั้งนี้ เลขาฯ กกต.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ นายอิทธิพร บุญประคอง ประคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการสมัคร ส.ว. ในการสแกน อัพโหลด เอกสาร ของผู้สมัคร ล่าช้า  โดยผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปสังเกตการณ์รับสมัคร ส.ว. ที่สำนักงานเขตพญาไท  พบว่าผู้สมัครที่เข้าไปในห้องรับสมัครตั้งแต่เวลา 09.30 น. ยังไม่ออกมาจากห้องสมัคร 

ก่อนหน้านั้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภาวันแรก ของศูนย์ประสานงานการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เขตพญาไท โดยมีนายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท ให้การต้อนรับ   และบรรยายขั้นตอนการรับสมัคร เบื้องต้นในเขตนี้มีผู้ขอรับใบสมัครไปก่อนหน้านี้รวมทั้งสิ้น 76 คน

สำหรับขั้นตอนการรับสมัครที่ทางสำนักงานเขตได้จัดเตรียมไว้ขั้นตอนที่ 1 ผู้สมัครจะต้องลงทะเบียน เพื่อระบุลำดับที่ โดยลงชื่อและเวลาที่มาลงทะเบียน จากนั้นเมื่อได้คิวแล้ว จะไปสู่ขั้นตอนการกรอกเอกสาร โดยเอกสารหลักๆ ประกอบด้วยใบสมัคร ซึ่งจะให้กรอกแบบแนะนำตัวผู้สมัคร  แบบรับรองความรู้ความสามารถในแต่ละกลุ่มอาชีพ  สำเนาบัตรประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้าน  ใบรับรองแพทย์   และรูปถ่าย ซึ่งจะเป็นสีหรือขาวดำก็ได้

จากนั้น จะไปสู่กระบวนการบันทึกข้อมูล โดยมีฝ่ายทะเบียนและฝ่ายปกครอง ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะนำเอกสารทั้งหมดไปให้ผู้อำนวยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาลงลายมือชื่อ และนำเอกสารทั้งหมดบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการสแกน จนกระทั่งถึงขั้นตอนการจ่ายสมัคร ด้วยการชำระค่าธรรมเนียม 2,500 บาท  

และจบขั้นตอนสุดท้าย ด้วยการออกใบรับสมัคร โดยเจ้าหน้าที่จะออกเอกสารให้ 2 ใบ คือ ใบ สว.10 กับ สว.11 ซึ่งเป็นแบบรับใบสมัคร และเอกสารแนะนำตัว

เจ้าหน้าที่ก็เน้นย้ำเอกสารการรับสมัคร จะมีการตรวจให้ครบถ้วน    หากไม่ครบถ้วนจะคืนเอกสารให้กับผู้สมัครไปเตรียมเอกสารให้ครบ ก่อนจะมาสมัครอีกครั้ง ส่วนผู้สมัครที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก สำนักงานเขตได้มีการจัดรถวิลแชร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้

ขณะที่นายอิทธิพร ได้กำชับการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการตรวจสอบเอกสารการรับสมัคร ให้ทำให้เกิดความรอบคอบทุกขั้นตอน ขั้นตอนการรับเงินค่าสมัคร ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ทำช้าๆ ให้เกิดชัดเจน พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกันเป็นอย่างดี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

นายอิทธิพร ให้สัมภาษณ์ เพิ่มเติมว่ามั่นใจว่ามีความพร้อม  เพราะ กกต. หน่วยราชการ  เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มาช่วยทำงาน  ได้มีการพูดคุยหารือ  และซักซ้อมความเข้าใจ  การปฎิบัติ การเตรียมการในครั้งนี้เป็นอย่างดี 

“กกต.ได้พยายามสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงาน  โดยเฉพาะที่ กทม. ซึ่งคาดว่าเป็นจุดที่จะมีผู้มาสมัครมากที่สุด  และเชื่อมั่นในการทำงานของ กทม.   โดยวานนี้เลขาธิการกกต.ก็ได้ไปตรวจและพูดคุยกับทีมเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตบางกะปิ  ก็ตระหนักดีถึงความตื่นตัว ความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในบริบทของ กทม.” 

ส่วนที่อื่นก็มีความพร้อมเช่นกัน  เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจ  ทั้งนี้ได้ทราบว่า กทม. ได้จัดบุคลากรกว่า 5 พันคน มาข่วยดำเนินการรับสมัคร ส.ว.ในครั้งนี้ 

เมื่อถามว่าประเมินว่าจะมีผู้มาสมัครจำนวนมากน้อยแค่ไหน   นายอิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นประเมิน  แต่ตามข้อเท็จจริง  ตามที่เราประกาศ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. ให้มีการรับใบสมัครได้ทั่วประเทศ  ล่าสุดเมื่อวานนี้มีผู้มาขอรับใบสมัครสูงถึง 34,000 ใบ    

“ฉะนั้นวันนี้รับสมัครจริงจนถึงวันศุกร์  ก็มั่นใจว่าตัวเลขจะสูงขึ้น  แต่จะสูงแค่ไหนยังไม่ทราบ ซึ่งจะมีผู้สมัครมามาก  สิ่งที่ดีคือความเป็นตัวแทน ในการได้รับเลือกซึ่งกันและกัน  ก็จะมีคุณค่าและความหมายมากขึ้น  เพราะท่านจะเป็นตัวแทนของผู้เลือกที่มีกลุ่มใหญ่”

ส่วนที่ยังมีกระแสดราม่าเรื่องการสมัคร ส.ว.  นายอิทธิพร กล่าวว่า  การสมัคร ส.ว. ก็เหมือนที่เขียนในกฎหมาย เมื่อกฎหมายระบุให้เตรียมอย่างไร  ก็เตรียมให้พร้อมแล้วดูว่าระหว่างกระบวนการทำงาน ถ้ามีปัญหาจะแก้อย่างไร  เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการเตรียมการที่ค่อนข้างดี จะช่วยทำให้ปัญหาที่อาจมี ไม่มีหรือมีน้อยมาก สามารถแก้ไขได้ภายในกำหนดเวลา  

ส่วนอาจมีการลงสมัครและฮั้วกันในการลงคะแนน  นายอิทธิพร กล่าวว่า อยากให้ผู้สมัครทุกคนรักษากฎหมาย เพื่อให้การสมัครในครั้งนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกระบวนการเลือกก็มีการออกแบบเพื่อป้องกันในเรื่องนี้ และที่มีมีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการสมัคร 2,500 บาท ก็เป็นประการหนึ่งที่ไม่ให้ค่าสมัครถูกเกินไป 

อีกทั้งยังมีการกำหนดให้มีการเลือกไขว้ เพื่อทำให้การสมรู้ร่วมคิดหรือฮั้วเป็นไปได้ยากขึ้น  ขณะที่ กกต.ก็มีเครือข่าย โดยตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง  423 คน  มีชุดเคลื่อนที่เร็ว  ซึ่งพร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์  ในการป้องกันและป้องปรามการทุจริต  คาดหวังว่าการทุจริตคงมีไม่มาก เพราะผู้สมัครทุกคนก็อยากให้การเลือกครั้งนี้ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร พบความเคลื่อนไหวการจัดตั้งกลุ่ม การรวมกลุ่ม เพื่อฮั้วลงคะแนนเลือก ส.ว. แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และเจ้าหน้าที่มีการจับตาเป็นพิเศษในกระบวนการเลือกทุกระดับ  โดยเฉพาะผู้สมัครที่ไม่มีคะแนน และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 1-5 ลำดับแรก   ซึ่งการตรวจสอบว่ามีการฮั้วจริงหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมและเอกสารต่างๆ ประกอบด้วย