วันนี้(24 พ.ค. 67) ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา มีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ข้อ 7 ข้อ 8 และ ข้อ 11(2)
ตามคำร้องที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท และ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพวก ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ
สำหรับ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 ข้อ 7 ระบุว่า การใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ให้ใช้เอกสารขนาดไม่เกิน A4 สามารถระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการศึกษา หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า การแจกเอกสารตามวรรคหนึ่ง จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้
ข้อ 8 ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวตาม ข้อ 7 และเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น
ข้อ 11 นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลบังใช้ไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณี (2) ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธรกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางโดยละเอียดระบุว่า คดีหมายเลขดำที่ ๗๗๑/๒๕๖๗ หมายเลขแดงที่ ๙๗๒/๒๕๖๗ ระหว่าง นาย พ. กับพวก รวม ๖ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกฟ้องเพิกถอนระเบียบฉบับเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๖๗ โดยฟ้องขอให้ศาลเพิกถอน ข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” ข้อ ๕ ข้อ ๗ ข้อ ๘ และข้อ ๑๑ (๒) (๓) และ (๕)
คดีนี้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยในส่วนของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๗ และข้อ ๘ และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ข้อ ๑๑ (๒) และ (๕) ทำนองเดียวกับคดีหมายเลขดำที่ ๗๕๓/๒๕๖๗
ส่วนข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” นั้น วินิจฉัยว่า เป็นการให้คำนิยามความหมายของการแนะนำตัวซึ่งมีผลทำให้การแนะนำตัวจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยกันเอง ทั้งที่การแนะนำตัวดังกล่าวประชาชนสามารถมีส่วนร่วมรับรู้ได้ จึงมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้อ ๕ ของระเบียบพิพาท ซึ่งกำหนดให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาสามารถแนะนำตัวตามระเบียบนี้ได้ นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ นั้น เห็นว่า การกำหนดให้ระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงผู้ประสงค์จะสมัครด้วยนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการดำเนินการรับสมัครเท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าความในมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ จะใช้คำว่า “ผู้สมัคร” ก็ตาม แต่ยังมีความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน บัญญัติถึง “ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัคร”
และกรณีจะต้องรับโทษตามมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ นั้น ต้องเป็นกรณีผู้สมัครหรือบุคคลใดที่ให้การช่วยเหลือผู้สมัครไม่รวมถึงผู้ประสงค์จะสมัครด้วย ข้อกำหนดในข้อ ๕ จึงไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนข้อ ๑๑ (๓) ของระเบียบฉบับพิพาท วินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแนะนำตัวของผู้สมัคร ทำให้ผู้สมัครที่ไม่สามารถใช้วิธีการแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่อาจใช้วิธีการตามข้อ ๑๑ (๓) ได้ อันเป็นการจำกัดการแนะนำตัวผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาให้ไม่เสมอภาคกัน
จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้สมัครที่เกินความจำเป็นแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแนะนำตัวเพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ เช่น การเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย หรือต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
จึงพิพากษา ดังนี้
(๑) เพิกถอนข้อ ๓ บทนิยามของคำว่า “การแนะนำตัว” ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
(๒) เพิกถอนข้อ ๗ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๗ ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ระเบียบแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ
(๓) เพิกถอนข้อ ๘ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งใช้บังคับในระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗ จนถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗
(๔) เพิกถอนข้อ ๑๑ (๒) และ (๓) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยให้มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก