เปิด 3 ช่องทาง "วิษณุ" เข้าทำเนียบ นั่งที่ปรึกษากฎหมาย "นายกฯเศรษฐา"

29 พ.ค. 2567 | 07:29 น.

เปิด 3 ช่องทาง "วิษณุ เครืองาม" เนติบริกร นั่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" กุนซือกฎหมาย กุมบังเหียน สลค.-กฤษฎีกา ต่อสู้ "คดีเศรษฐาตั้งพิชิต"

แม้กระแสข่าว "วิษณุ เครืองาม" อดีตรองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายชั้นเซียนหลายรัฐบาล จนได้รับสมญานาม "เนติบริกร" จะ "คัมแบ็ก" นั่ง "กุนซือ" รัฐบาลเศรษฐาหนาหู ถึงขั้นปักหมุด วัน ว.เวลา น.เข้าทำเนียบรัฐบาล-จองห้องทำงาน ตึกแดง-สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ทว่า "คำสั่งนายกฯ" ที่จะเป็น "ใบเบิกทาง" เข้าประตูทำเนียบยัง "ไม่มีเสียงตอบรับ" 

"วิษณุ" เปิดใจหลังปรากฎข่าวได้รับการทาบทามให้มานั่งเป็น "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" ทำนองว่า "ยังไม่ถึงเวลา" ลาออกจาก "งานประจำ" ในคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึง "ปัญหาสุขภาพ" ดังนั้น ขอเป็น "ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ" นอกวงโคจรศูนย์กลางอำนาจไปพลางก่อน  

อย่างไรก็ตามหาก "วิษณุ" ตกปากรับคำ "เทียบเชิญ" มานั่งเป็น "ที่ปรึกษากฎหมาย" ต่อสู้ "คดีเศรษฐาตั้งพิชิต" ในศาลรัฐธรรมนูญ  โดย "ช่องทาง" ทางกฎหมายที่จะสามารถ "เบียดตัว" เข้ามามี 3 ช่องทาง

ช่องทางแรก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ ตาม (6) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง 

ช่องทางที่สอง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 8 การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตามมาตรา 4 (8) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีด้วยความเป็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งบุคคลซึ่งเห็นสมควรตามเหตุผลในทางการเมือง และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นข้าราชการการเมืองตามพ.ร.บ.นี้ได้ 

ช่องทางที่สาม สลค.จะมีตำแหน่งที่เรียกว่า "ที่ปรึกษาสลค." ที่เปิดไว้สำหรับรองรับข้าราชการ สลค.ที่ "เกษียณอายุ" แล้ว แต่ยังมีความรู้และความสามารถจะทำงานได้ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา "เศรษฐา" จรดปากกาแต่งตั้ง "ที่ปรึกษา-คณะกุนซือ" ตามช่องทางทั้ง 3 ดังต่อไปนี้  

1.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (6) นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังต่อไปนี้ เป็น "ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี" เพื่อทำหน้าที่ในการ "ให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย" โดยมี "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เป็นประธานที่ปรึกษาและที่ปรึกษา 

  • นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 
  • นายพิชัย ชุณหวรชิร (ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง) 
  • นายศุภนิจ จัยวัฒน์ 
  • ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ 
  • นายพิชิต ชื่นบาน (อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)
  • นายชลธิศ สุรัสวดี 
  • นายชัย วัชรงค์ (โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)
  • นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ 

ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกะบการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

2.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 358/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (6) และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ข้อ 4 แต่งตั้ง "ม.ล.ชโยทิต กฤดากร" เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย 

3.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อาศัยอำนาจพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (6) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ข้อ 4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 แต่งตั้ง "นลินี ทวีสิน" ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย 

4.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 255/2566 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11(6) และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ.2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2552 ข้อ 4 แต่งตั้ง "นฤมล ภิญโญสินวัฒน์" เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย 

5.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 274/2566 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 8 ด้วยความเห็นชอบของครม.จึงแต่งตั้ง "ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  

6.คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 290/2566 เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมือง อาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 8 ด้วยความเห็นชอบของครม.จึงแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 

  • พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 
  • นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  • นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  • นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี