วันนี้ (12 มิ.ย. 67) น.ส.จุฑารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างเดือน ก.ค. 2557 ถึงวันที่ 29 ก.ย.2558 นายสุทิน ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีคำสั่งตั้งชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้น
ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดตั้งชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำ และอนุญาตให้ชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลิตสินค้าเพื่อนำไปฝากขายในร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยไม่มีการกำหนดจำนวนของสินค้า และไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถกระทำได้
และไม่มีการหักส่วนลดไม่เกินร้อยละ 8 ของสินค้าที่จำหน่าย เข้าเป็นรายได้ของร้านค้าสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นเงินรายได้ของทางราชการชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เป็นผู้บริหารจัดการเงินรายรับรายจ่ายทั้งหมดเพียงคนเดียว ไม่เคยมีการแบ่งปันผลกำไรให้กับผู้ที่ปรากฎชื่อในชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
รวมทั้งผู้มีชื่อเข้าร่วมในชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ไม่ทราบเกี่ยวกับรายจ่าย หรือผลประกอบกิจการของชมรมฯ แต่อย่างใด จึงเป็นการดำเนินการเองโดยอ้างชื่อชมรมแม่บ้านราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนำเงินได้จากการจำหน่ายสินค้าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
น.ส.จุฑารัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติเห็นว่า การกระทำของนายสุทิน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 มาตรา 172 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2561
ส่วนการกระทำของนางศิริพร อริยสัจธรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 น.ส.ศานิตตรา พิมพ์นวลศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
ส่วนกระทำของ น.ส.ปวีณา ศานต์ฤทัยกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
สำหรับนายสาครินทร์ เชื้อนาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง เห็นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดทางอาญา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การที่ นายสาครินทร์ มีฐานะเป็นผู้จัดการร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหน้าที่บริหารจัดการร้านดังกล่าว รวมถึงการเบิกจ่ายเงินร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ทั้งยังเป็นผู้ดูแลรายได้จาการจำหน่ายสินค้า ไม่ดำเนินการหักส่วนลดสินค้าของ น.ส.ปวีณา ไม่เกินร้อยละ 8 ของสินค้าที่จำหน่ายได้เข้าเป็นเงินรายได้ของทางราชการ จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
โดยให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายสุทิน และ น.ส.ปวีณา และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายสุทิน นางศิริพร นายสาครินทร์ และ น.ส.ศานิตตรา ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย