ลุ้นศาลรธน.เที่ยงวันนี้ รู้ผล“เลือก สว.” โมฆะ-ไม่โมฆะ เปิด 3 แนวทางวินิจฉัย

17 มิ.ย. 2567 | 23:30 น.

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ รู้ผลเลือก สว. “โมฆะ-ไม่โมฆะ” เปิด 3 แนวทางวินิจฉัย 4 มาตรากฎหมายการได้มาซึ่ง สว. “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ - ขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา - ขัดรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่ง”

วันนี้(18 มิ.ย. 67) เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่มี นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธาน จะประชมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ในคดีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวม 2 คำร้อง มาให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

โดยคดีนี้ศาลเห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา

                                       ลุ้นศาลรธน.เที่ยงวันนี้ รู้ผล“เลือก สว.” โมฆะ-ไม่โมฆะ เปิด 3 แนวทางวินิจฉัย

ทั้งนี้  4 มาตราที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วย มาตรา 36 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้สมัคร แนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด หรือบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สมัครจะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด

มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3)  และ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ที่กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่ม, ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ, ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 และไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่  

                                       ลุ้นศาลรธน.เที่ยงวันนี้ รู้ผล“เลือก สว.” โมฆะ-ไม่โมฆะ เปิด 3 แนวทางวินิจฉัย

สำหรับแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยออกมามีได้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ทั้ง 4 มาตรา “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” อันจะทำให้การเลือก สว.ในระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย.นี้ เดินหน้าต่อไปได้ และได้ ส.ว. 200 คน สำรองอีก 100 คน ตามไทม์ไลน์ 2 ก.ค. 2567

2. ทั้ง 4 มาตรา “ขัดรัฐธรรมนูญ” 

และ 3. มาตราใดมาตราหนึ่ง “ขัดรัฐธรรมนูญ” 

หากผลออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็น “สารตั้งต้น” นำไปสู่การ “ฟ้องร้อง” ให้การ เลือก สว. ที่เกิดขึ้นเป็น “โมฆะ” ได้

ขณะเดียวกัน จะนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ในมาตราที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจจะใช้เวลานานพอสมควร และจะทำให้ “สว.ชุดปัจจุบัน” อยู่รักษาการต่อไปอีกยาวนาน