ผลออกมาครบแล้วสำหรับ "4 คดีร้อนทางการเมือง" วันที่ 18 มิ.ย. 67 ที่สังคมจับตาและเกาะติดตั้งแต่เช้า
ทั้งคดี ม.112 อดีตนายกฯทักษิณ ในมือของอัยการสูงสุดทียื่นฟ้องต่อศาลอาญา และ 3 คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ปม 40 สว.ยื่นถอดนายกฯเศรษฐา การยุบพรรคก้าวไกล และการเลือกสว.กันเองขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ฐานความผิดคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยคำสั่งของคสช.ฉบับที่ 41 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 นั้น โดยศาลอาญาประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567
จากนั้นทีมทนายความของนายทักษิณ ได้วางหลักทรัพย์วงเงิน 5 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว โดยศาลไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว และให้วางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทาง และห้ามเดินทาง ออกนอกประเทศ
ทั้งนี้ ศาลนัดตรวจหลักฐาน 19 ส.ค.2567
สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นและนายพิชิตสุดลง
ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 18 มิ.ย. ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567
กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล
ซึ่งมติที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ 18 มิ.ย. 2567 มี 4 มติ คือ
1.ให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามประเด็นที่กำหนดภายใน 7 วัน
2. ให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้
3. นัดพิจารณาต่อไปพุธ 3 ก.ค.67 และ 4. นัดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานอังคารที่ 9 ก.ค. 67
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติเอกฉันท์ ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ส่งผลให้การเลือก สว.ระดับประเทศ 26 มิ.ย.นี้ ดำเนินไปตามไลม์ไลน์เดิม