26 มิ.ย. 67 ลุ้น 40 สว.กทม. ใครจะได้เข้าสู่สภาสูง

23 มิ.ย. 2567 | 09:44 น.

วันพุธที่ 26 มิ.ย.นี้ 3,000 คน ลุ้นชิงเก้าอี้สภาสูง ได้ตัวจริง 200 คน สำรองไว้อีก 100 คน ต้องผิดหวัง 2,700 คน จับตา 40 ตัวตึง สว.กทม. 20 กลุ่มอาชีพ “ดี เด่น ดัง” เพียบ ว่าแต่ใครจะได้เข้าไปทำหน้าที่ “ผู้ทรงเกียรติ”

ในวันพุธที่ 26 มิ.ย. 2567 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้เป็นวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ โดยใช้อาคารศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่เลือก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ในการเลือก สว.ระดับจังหวัด ได้จำนวนผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดเข้าสู่ระดับประเทศ จำนวน 3,000 ราย แบ่งเป็นชาย  2,164  ราย  เป็นหญิง  836  ราย

ในส่วนของการเลือก สว. ระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ได้ตัวแทน 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 2 คน รวม 40 คน เข้าไปสู่รอบประเทศ ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ 

 

นายกฤษฎา เปี่ยมพงษ์สานศ์ อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก 

พลตำรวจตรีอรรถวิทย์  สายสืบ อดีตรองผู้งคับการตำรวจนครบาล 1

กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ 

นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

พล.ต.ท.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา ได้แก่ 

นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

นางฉันทนา หวันแก้ว อดีตรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข ได้แก่ 

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อดีตกรรมการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

น.ส.วิธาวีร์ ประทุมสวัสดิ์ พยาบาลวิชาชีพ

กลุ่มที่ 5 กลุ่มอาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุกฯ ได้แก่ 

นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

นายชูเกียรติ เลิศสุภานนท์ ผู้ออกแบบปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์

กลุ่มที่ 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ปศุสัตว์ ประมง ได้แก่ 

น.ส.สดใส โอมหานนท์ เกษตรกรสวนมะนาว

นายสุชาติ ขวัญเกื้อ ทนายความและเจ้าของสวนทุเรียน

กลุ่มที่ 7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ 

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน

นายวีรเวท วงษ์กิจบัญชา อาจารย์สอนด้านนโยบายการเงินการคลัง

กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค พลังงาน ได้แก่ 

นายวรุณ อุ่นเจริญพรพัฒน์ ที่ปรึกษาบริหารโครงการเอกชน 

นายปฏิมา จีระแพทย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์

กลุ่มที่ 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางขนาดย่อม ได้แก่ 

นายสมชาย สาโรวาท ประธานเครือข่ายพัฒนาศักยภาพไทย

น.ส.ฐานิยา ตุลาธรรมธร ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน

กลุ่มที่ 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9 ได้แก่ 

น.ส.พรีธาภัสสร์  วิชยกิตติ์ ประธานบริหารองค์กรส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยดั้งเดิมสู่สากล

นายสนั่น ขวัญเอื้อ เจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์

กลุ่มที่ 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ 

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย

น.ส.สุวณา ปิยะพิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิสุวณาประชาสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ขาด

กลุ่มที่ 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ 

นายปิยะพงศ์เรืองรอง  ผู้ชำนาญด้านเคมีอุตสาหกรรม

นายวิวัฒน์ ทีฆะคีรีกุลประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทคาร์มาร์ท จำกัด 
 
กลุ่มที่ 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ 

น.ส.ศิริวรรณ คูอัมพร กรรมการผู้จัดการบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์

นายประเวทย์ ตันติสัจธรรม นายกสมาคมไทยบล็อกเชน

กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี ได้แก่ 

น.ส.สุกัญญา ประจวบเหมาะ สมาคมสตรีประธานสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

นางสาวสุภาภรณ์ อัษฎมงคล อาชีพรับจ้าง

กลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุคนพิการทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ ได้แก่ 

นายสุเทพ สุริยะมงคล คน 6 ตุลา 19 

นายอาณัฐชัย รัตตกุล เลขาธิการมูลนิธิลูกเสือโลก น้องชายนายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.

กลุ่มที่ 16 กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรีการแสดง บันเทิง นักกีฬา ได้แก่ 

น.ส.ภาวิณี สมรรคบุตร ฟอฟิ นักออกแบบศิลปะการแสดง 

น.ส.ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักแสดง

กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ได้แก่ 

น.ส.อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชนผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ได้แก่ 

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีอดีตคณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

น.ส.อัจฉรา อัชฌายกชาติ อดีตผู้สื่อข่าวหลายสำนัก

กลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ได้แก่ 

นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะป๊อปคัลเลอร์

น.ส.กิตติมา เพ็งสุข เจ้าของตลาดนัดผู้ใหญ่อ้วน 

กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ 

นายธรรมนูญ ซึมโรจน์ประเสริฐ นักธุรกิจเพื่อสังคม

นายวราวุธ ตีระนันทน์ อุปนายกสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค

เปิดขั้นตอนเลือก สว. 200 คน

ทั้งนี้ กกต.ได้เผยแพร่วิธีการเลือก สว.ระดับประเทศ มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

รอบที่ 1 การลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน 

การรายงานตัว 

-ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลา 09.00 น. ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก 

-ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด

การลงคะแนน

-เมื่อแต่ละกลุ่มรายงานตัวครบ หรือเมื่อพ้นระยะเวลา 09.00 น. ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายประชุมชี้แจงผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด

-ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้

การนับคะแนน 

-ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น 

-กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 40 คน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น 

-กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คน แต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่

-กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 20 คน ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่ เพื่อให้ได้ จำนวน 20 คน และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน 

การดำเนินการแบ่งสายและการจับสลากเพื่อแบ่งสาย 

ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนเพื่อจับสลากแบ่งสาย จำนวนไม่เกิน 4 สาย สายละ 3 – 5 กลุ่ม

                     
รอบที่ 2 การลงคะแนนเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน 

การลงคะแนน

-ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกัน ได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะลงคะแนนให้แก่ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองมิได้

การนับคะแนน 

-ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกลุ่มนั้น 

-ผู้ได้คะแนนลำดับที่ 11- 15 ของแต่ละกลุ่ม อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

-กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 15 คน ให้ดำเนินการจับสลากเพื่อเรียงลำดับ 

-กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากัน แต่ไม่เกิน 15 คน ให้มีการจับสลาก เพื่อให้ได้ผู้ได้รับคะแนนในแต่ละลำดับ

เมื่อผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ได้รับประกาศผลการนับคะแนนจากกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว จะดำเนินการจัดทำประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานให้กกต.ทราบ 

เมื่อได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

ทั้งนี้การคัดเลือก สว.ระดับประเทศ จะคัดเอาผู้ได้รับเลือก จาก 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพละ 10 คน รวม 200 คน  และสำรองไว้อีก 100 คน 

มารอลุ้นกันว่า ในจำนวนผู้สมัคร สว. 3,000 คน ที่ผ่านระดับจังหวัด เข้าสู่รอบสุดท้ายระดับประเทศ ใครบ้างจะได้เดินเข้าสู่ “สภาสูง” 

โดยเฉพาะบรรดา 40 สว.กทม. ที่เป็นบุคคล ดี เด่น ดัง ในแต่ละสาขาอาชีพ ใครจะได้เข้าไปทำหน้าที่ “ผู้ทรงเกียรติ” ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา บ้าง

จาก 3,000 คน เอาตัวจริงแค่ 200 คน และสำรองไว้อีก 100 คน นั่นหมายความว่า จะมีผู้สมัครที่ต้อง “ผิดหวัง” จำนวน 2,700 คน 

 26 มิ.ย.นี้ มารอลุ้นกัน...