“วิษณุ”เบรก“บิ๊กโจ๊ก”ฟ้องนายกฯ แนะหากไม่พอใจให้ร้องศาลปกครอง

25 มิ.ย. 2567 | 05:18 น.

“วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แนะ “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ควรฟ้องนายกฯ ให้รอ ก.พ.ค.ตร. หากไม่พอใจ ควรไปร้องศาลปกครอง 1 เดือนรู้ผล

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จะยื่นฟ้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  หากไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่ไม่ควรฟ้อง 

“ที่สำคัญ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีช่องทางที่จะบำบัด หรือ ได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งควรจะไปใช้ช่องทางปกติ โดยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ยื่นฟ้องเช่นกัน

 

 เช่น ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากใครได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชา ก็สามารถยื่นร้องทุกข์ได้ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ ก.พ.ค.ตร.ในการตัดสิน หากตัดสินอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น เวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร.  ฉะนั้น ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า อนุ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องถูกส่งไป ก.พ.ค.ตร. เพื่อวินิจฉัยในเร็ววันนี้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ควรรอคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนควรจะรอ เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปแก้ไขเยียวยาเอง 

ส่วนจะนานหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า “มันนาน แต่ว่า ก.พ.ค.ตร.ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้น เวลาน่าจะเหลือจะประมาณ 1 เดือน” 
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการอ้างมติ ครม.ปี 2482 ว่า หน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่จริง ออกมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ตั้งแต่นั้นมา   

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะยึดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการต่อสู้ และมีสิทธิจะชนะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ยิ่งไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และในวันที่ตนแถลงข่าวก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดว่าอย่างไร 

ในวันนั้นมีผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังเป็นแคนดิเดตผบ.ตร.ได้อยู่หรือไม่ ตนจึงตอบว่า ใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง พล.ต.อ. และเป็นรองผบ.ตร. ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่สุดท้ายจะได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งมติ ก.ตร. และอยู่ที่นายกฯ จะเสนอชื่อใคร เหมือนเช่นตอนที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล  

เมื่อถามว่าแต่เป็นเหตุผลที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หยิบขึ้นมาอ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนก็เอาสิ่งที่ตนได้ประโยชน์มาอ้าง ไม่มีใครอ้างในสิ่งที่เป็นโทษ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้กลายเป็นว่า มีการเอาผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ ที่มี นายฉัตรชัย เป็นประธาน ที่ทำท่าจะจบ แต่ไม่จบ เพราะมีการไปต่อยอด ฟ้องร้องกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นคดีใหม่ ส่วนคดีเก่าคือ คดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องจบไปแล้วส่วนหนึ่ง 

ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผบ.ตร. และคนอื่นๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไป ที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งขึ้นไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

“ขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร. เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร. ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก” นายวิษณุ ระบุ