KEY
POINTS
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดเลือก สว.รอบแรก และ รอบไขว้ เมื่อคืนวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
หลังจากนี้ กกต.จะประกาศรับรองผลการเป็น สว.ภายใน 5 วัน นับจากวันเลือก ซึ่งตามไทม์ไลน์คือ ภายใน 2 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม การจัดเลือก สว. ของ กกต. ครั้งนี้ ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และท้วงติงถึงการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การยื่นให้กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบ และวินิจฉัยออกมา
ชงอสส-ศาลล้ม สว.
โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. เข้ายื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยการเลือก สว. ปี 2567 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสอง หรือไม่ ที่กำหนดห้ามผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกล่มเดียวกัน
แต่ กกต. ดำเนินการโดยให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ลงคะแนนให้กลุ่มเดียวกัน ในทุกรอบทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และ ระดับประเทศ การกระทำ ของ กกต.จึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 มี 4 วรรค ไม่มีวรรคไหนที่ระบุให้เลือกไขว้ หรือเลือกอย่างใด หรือ คนกลุ่มเดียวกันเลือกคนกลุ่มเดียวกัน
“ผมมองว่าการเลือกกันเองแบบนี้ ส่อให้เกิดการฮั้ว จึงร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบว่า กระบวนการเลือกกันเองนี้ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขอให้การเลือกเป็นโมฆะ คืนเงินค่าสมัครให้กับผู้สมัคร”
นายสนธิญา ระบุว่า หากอัยการสูงสุดไม่ตอบใน 30 วัน ก็จะยื่นร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุ สมมติถ้าให้การเลือกเป็นโมฆะ จะไม่ลงสมัคร สว. แต่ต้องการให้กระบวนการเลือก สว. เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
แฉขบวนการบล็อคโหวต สว.
ด้าน นางนันทนา นันทวโรภาส ผู้ได้รับการเลือกเป็น สว. ในกลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชนฯ ยืนยันว่า หลังได้รับเลือกเป็น สว. ด้วยคะแนนเป็นลำดับที่ 9 ของกลุ่ม ขอตั้งข้อสังเกตว่า มีการบล็อกโหวตที่จะต้องมีการยื่น กกต. ตรวจสอบ
โดยตอนนี้มีผู้สมัครล่ารายชื่อเพื่อจะดำเนินการยื่นร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ จำนวนกว่า 100 คน เพราะเห็นว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มอาชีพใน 7 ลำดับแรก จะมาเป็นกลุ่มก้อน และจะได้รับคะแนนสูงทิ้งห่างคนอื่น โดยผู้สมัครกลุ่มจะไม่พูดคุยกับคนอื่น อยู่รวมตัวกันเฉพาะกลุ่ม และมีคะแนนที่ได้มาในลักษณะเหมือนกัน
“ส่วนตัวเห็นว่า จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก หากปล่อยให้มีการบล็อคโหวต และกลายเป็น สว.ที่ถูกเรียกว่า สว.ล็อกโหวต ไม่ตอบโจทย์กับ สว.ที่ต้องเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ” นางนันทนา ระบุ
"เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลที่ทำในทิศทางเดียวกัน และมุ่งผลต้องการให้มี สว.ที่ตัวเองที่ตัวเองส่งเข้ามา โดยจะต้องไปดูไปตรวจสอบว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่”
“บ้านใหญ่บุรีรัมย์”กวาด 14 สว.
ผลการเลือก สว.ระดับประเทศ จำนวน 20 กลุ่ม 200 คน ผลปรากฏว่า ผู้สมัคร สว.จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับเลือกเป็น สว.มากที่สุด จำนวน 14 คน ใน 11 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่ม 1 นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์, นายอภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าฯ อำนาจเจริญ (พี่ชายนายไตรเทพ งามกมล ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย)
กลุ่ม 2 พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีต ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์
กลุ่ม 4 นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข (สมัยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สาธารณสุข), นายฤชุ แก้วลาย
กลุ่ม 5 นางปวีณา สาระรัมย์
กลุ่ม 7 นายจตุพร เรียงเงิน
กลุ่ม 9 นางวรรษมนต์ คุณแสน
กลุ่ม 13 นายพรเพิ่ม ทองศรี หัวหน้าคณะทำงาน รมช.มหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย )
กลุ่ม 16 นายปราณีต เกรัมย์ (อดีตคนขับรถนายชัย ชิดชอบ)
กลุ่ม 17 นางประไม หอมเทียน, นายชาญชัย ไชยพิศ (อดีต ผอ.โรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์)
กลุ่ม 18 นายศุภชัย กิตติภูติกุล ผู้สื่อข่าว นสพ.ไทยรัฐ ประจำบุรีรัมย์
และกลุ่ม 20 นางวลีรักษ์ พัชระเมธาพัฒ
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้สมัคร สว.ของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้รับเลือกในระดับประเทศครั้งนี้ ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสายบ้านใหญ่บุรีรัมย์
กกต.มี 614 คำร้องปมเลือก สว.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงข้อร้องเรียนที่เกิดจากการเลือก สว. ว่า สิ่งที่ต้องดูไปก็คือ ความผิดนั้นมีองค์ประกอบความผิดว่าอย่างไร และต้องหาข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ดังนั้นสำนักงาน กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ
“เรื่องฮั้ว หรือบล็อกโหวต ต้องเอาผิดตามมาตรา 71 คือ การรับให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ อันนี้เข้ากฎหมายแน่นอน แต่ถ้าชวนกันมา หรือแลกคะแนนโดยไม่เสียเงิน นี่เป็นปัญหาทางกฎหมาย จะรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดในทุกเรื่อง”
ขณะนี้ที่ทำคือในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ในโรงแรม เราไปตรวจสอบว่า มีใครเข้าไปพัก กลุ่มไหนพัก ใครจอง ใครจ่าย ลงทะเบียน ใครให้เงิน แบบนี้ พวกนี้มี 2 เรื่องคือ
1.การจัดเลี้ยง มีการให้เงิน หรือประโยชน์หรือไม่
2.ใครจัดเลี้ยง ตรงนี้สามารถทำให้ผิด 2 กระทงได้ นี่คือภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้น
สำหรับการยื่นคำร้องมตั้งแต่การเลือก สว.ระดับอำเภอ จังหวัด จนระดับประเทศ นายแสวง กล่าวว่า มีทั้งหมด 614 คำร้อง จำแนกเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อคิดเป็น 65% ส่วนคำร้องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77
ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ ลงคะแนน กระจายกันไป รวมทั้งการนับคะแนน เจ้าหน้าที่ขานคะแนนในวันเลือก โดยในชั้นอำเภอร้องมากที่สุด ส่วนคำร้องระดับจังหวัดมี 75 เรื่อง กรณีร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3% จากทั้งหมด 614 คำร้อง