จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 ชี้ว่าคำสั่งของ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร ที่ให้ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อนลงวันที่ 18 เม.ย.2567 ชอบด้วยกฎหมาย
รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้มีการยืนยันว่า ปัจจุบันสถานะของ บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่มีสถานะตำรวจแล้ว ได้พ้นจากการเป็นตำรวจชั่วคราว จนกว่าจะมีการวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งจากคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) หรือจากศาลปกครองสูงสุด
เนื่องจากการถูกให้ออกจากราชการเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 131 และมาตรา 133 (4)ว่า ข้าราชการตำรวจออกจากราชการเมื่อถูกคำสั่งให้ออกจากราชการตาม มาตรา 131 ดังนั้นแม้จะยังไม่ได้กราบบังคมทูล ก็ถือว่าสถานะของ บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่ได้เป็นตำรวจแล้วชั่วคราวจนกว่าจะมีผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย และวินิจฉัยชี้ขาดจาก ก.พ.ค.ตร.
โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. เป็นต้นมา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็ไม่ได้รับเงินเดือน และสิทธิประโยชน์ใดๆจาก สตช. รวมทั้งไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุม ก.ตร. หรือมอบหมายงานแต่อย่างใด ต่อข้อถามว่าหาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ และล่วงเลยไปจนถึงช่วงการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า บิ๊กโจ๊ก ก็จะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่เข้าสู่การพิจารณาตำแหน่ง ผบ.ตร.ได้ เพราะไม่ได้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.
กรณีการนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลนั้น พล.ต.อ.เอก กล่าวว่าการที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ก็เนื่องมาจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีต้องหาคดีอาญา กระทำความผิดฐานฟอกเงิน หรือเป็นเจ้าพนักงานฟอกเงิน ซึ่งได้มีการมอบตัว และแจ้งข้อกล่าวหา
ซึ่งต้องทำเรื่องให้นายกฯนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พ้นจากตำแหน่ง และจากผลหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าต้องกราบบังคมทูลภายในระยะเวลาอันสมควรแล้วแต่กรณี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจนายกฯ ว่าจะกราบบังคมทูลฯเลยก็ได้ หรือจะรอผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ก่อนก็ได้
เนื่องจากยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ทางบิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. โดยกรอบเวลาการทำงานของ ก.พ.ค.ตร. กฎหมายกำหนดไว้ที่ 120 วัน แต่หากยังไม่แล้วเสร็จสามารถ ขยายเวลาได้อีกครั้งละ 60วัน จำนวน 2ครั้ง เท่าที่ทราบระยะเวลาการทำงานภายใต้กรอบ 120 วันนั้น ก.พ.ค.ตร.ได้ดำเนินการไปแล้วและเหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเศษ
ในกรณีที่ ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นไปโดยชอบ บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังสามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีคำพิพากษาถึงที่สุดได้
แต่หาก ก.พ.ค.ตร.มีการวินิจฉัยว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นไปโดยมิชอบ ถือที่ถึงสุดในทางที่เป็นคุณต่อพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ต้องมีคำสั่งให้พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการทันที โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567