อดีตผู้สมัครสว. ยื่นศาลปกครอง เบรก กกต.รับรองผลเลือกตั้ง สว.

01 ก.ค. 2567 | 03:42 น.

อดีตผู้สมัครสว. “จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์” ยื่นศาลปกครอง ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน-คุ้มครองชั่วคราวการประกาศรับรอง "ผลการเลือกตั้ง สว. 2567" เชื่อมีทุจริต-เชื่อมโยงทางการเมืองไม่โปร่งใส ผู้สมัครบางคนกรอกประวัติไม่ตรงกลุ่มอาชีพที่สมัคร กกต. ปล่อยให้ผ่านมาได้

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic และอดีตผู้สมัคร สว. ปี 2567 เปิดเผยว่า เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการประกาศผลการเลือกตั้ง สว. โดยเขาอ้างว่ามีความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีการเชื่อมโยงทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม

นายจาตุรันต์ กล่าวว่า มีผู้สมัครบางรายแจ้งประวัติไม่ตรงกับกลุ่มอาชีพ และมีการโหวตหักหลังกันในกระบวนการเลือกตั้งอย่างน่าเกลียด จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตรวจสอบและฟันธงต่อผู้สมัครที่ไม่เหมาะสม รวมถึงว่าที่ สว. ที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง

นายจาตุรันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้เต็มไปด้วยกลยุทธ์และการหลอกลวง ทำให้ประชาชนเสียศรัทธาต่อกระบวนการเลือกตั้ง และเกรงว่าการมี ส.ว. ที่มีที่มาไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศและความน่าเชื่อถือขององค์กร

นายจาตุรันต์ ขอให้ศาลปกครองพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ว. ที่คาดว่ากกต.จะประกาศรับรองในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยเขามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความไม่ชอบธรรมและขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

สุดท้าย นายจาตุรันต์ ย้ำว่าความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง ส.ว. มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศชาติ และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบและเรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการเลือกตั้งนี้

“ผมในฐานะผู้เสียหายโดยตรงซึ่งทั้งเป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาปี 67 ในครั้งนี้ และเสียหายโดยตรงอีกทางหนึ่งก็คือเป็นประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อเป็นเงินประจำตำแหน่งให้กับสมาชิกวุฒิสภาและผู้ช่วยอีก 8 คนในชุดนี้ จึงร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองการประกาศรับรองผลสมาชิกวุฒิสภาซึ่งคาดว่ากกต.จะประกาศรับรองในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ออกไปก่อน  ที่จะรับรองสว.ที่ได้มาโดยผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายตามมาตรา 74"นายจาตุรันต์ กล่าว

 

ยื่นแล้ว ร้องศาลปกครอง สั่งระงับประกาศผลเลือกสว.

จากนั้นเวลา 10.00 น นายจาตุรันต์ เดินทางไปที่สำนักงานศาลปกครอง ยื่นฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ปล่อยปละละเลยในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ไม่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สว.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจาณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือกสว.เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย 

นายจาตุรันต์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า กระบวนการเลือกสว.2567 ตั้งแต่การรับสมัคร มาถึงการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเป็นวิบากรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม แต่หลังการเลือกเสร็จกลับกลายเป็นวาระแห่งชาติ ประชาชนโฟกัสมาที่กลโกง การจัดตั้ง กลุ่มอาชีพของคนเป็นว่าที่สว.ใหม่ ตนไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่กระบวนการได้เข้ามาของบางคน มีความเชื่อมโยงของบางกลุ่มที่พยายามจัดตั้งและนำคนเข้ามา ซึ่งเห็นว่า เป็นการเข้ามาสมัครที่ปราศจากการอยากเป็นสว.ตามรัฐธรรมนูญ ที่เราเห็นคือ การเลือกไม่ลงคะแนนให้ตัวเองถือเป็นความผิดปกติ และการเลือกลงในกลุ่มอาชีพ ที่อาจจะผิดมาตั้งแต่แรก โดยใช้เจ้าหน้าที่ กลไกของกระทรวงมหาดไทย มีการอบรม ซึ่งมีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ บางจังหวัดมีคนเยอะ บางอำเภอใช้การอะลุ้มอล่วย ใช้วิจารณญาณที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ หรือมีความผูกพันกันส่วนตัวหรือไม่

ดังนั้น การลงไม่ตรงกลุ่มอาชีพมีปัญหาแน่ๆ การบอกว่า เป็นเจตนาของผู้สมัคร ซึ่งอาจจะทำหลายอาชีพ แล้วแบบนี้จะกำหนดไว้ทำไม 20 กลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มคลุมเครือก็ต้องตีความ แต่บางกลุ่มขัดแย้ง ดูแล้วพิกลพิการ ตนไม่ได้ด้อยค่าอาชีพ แต่บางคนอาจจะถูกหลอกจากคนจัดตั้งเพื่อกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ตรงตามเป้าหมาย 20 กลุ่มให้ได้มากที่สุด   

“เรื่องนี้หลายคนเห็นความผิดปกติ หากปล่อยว่าที่สว. 200 คน เข้าไปทำหน้าที่ ผมเกรงว่า บางคนจะไม่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่สว. เนื่องจากอาจจะถูกครอบงำจากบางกลุ่ม บางก้อน เลยมายื่นเรื่องให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง ไต่สวนฉุกเฉินในการที่กกต.จะประกาศรับรองผล ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.นี้ตามที่กกต.ให้สัมภาษณ์ เรื่องนี้ยังมีเวลา ไม่ต้องรีบ เพาะการปล่อยผ่านสว.บางคนเข้าไป มองว่า การไปพิจารณารับรองบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระก็ดี การไปพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศนั้น ผมไม่สามารถปล่อยผ่านได้จริง ๆ ดังนั้นอยากให้กกต.มีเวลาและตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งก่อน ยืนยันไม่ได้ต้องการให้การเลือกเป็นโมฆะ” นายจาตุรันต์ กล่าว 

สำหรับหลักฐานที่นำมายื่นประกอบในวันนี้  มีทั้งหลักฐานจากที่ปรากฏผ่านสื่อ จากการไปเจอมา และหลักฐานจากนายสมชาย แสวงการ หนังสือท้วงติงจากนายกล้าณรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และหลักฐานการนับคะแนนเป็นศูนย์คะแนนของผู้สมัคร สว. รวมถึงกลุ่มอาชีพ ที่นำมายื่นประกอบการพิจารณาของศาล อย่างไรก็ตาม วันเอกนั้นตนไม่ได้มีการทักท้วง เพราะเห็นว่า มีคนยื่นเรื่องเยอะแล้ว 

เมื่อถามว่า ทางกกต.ชี้แจงว่า จะมีการรับรองไปก่อน แล้วค่อยสอยทีหลังก็ได้ นายจาตุรันต์ กล่าวว่า “ไม่ได้” ตนไม่เชื่อมั่นในแนวทางนี้ จาการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของกกต. ตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่แล้ว ทุกวันนี้ให้ใบแดง ใบเหลืองกี่คนหลังปล่อยผ่านเข้าไป เป็นคำพูดที่กกต.สามารถพูดได้ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นบอกตรงๆ ว่ายังไม่เชื่อมั่นตรงนี้ 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีคนบอกว่า ไม่อยากให้ปล่อยยาวไป เพราะไม่อยากให้สว.ชุดเดิมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รักษาการต่ออีกยาว  นายจาตุรันต์ กล่าวว่า  อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน ตนคิดว่า หากกกต.ตรวจสอบอย่างจริงจัง ซึ่งกกต.บอกว่า มีข้อมูล และได้มาก่อนที่ประชาชนรู้อีก หากเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่า กกต.มีหลักฐานเด็ด อยู่ที่ว่า จะกล้าใช้อำนาจของกกต.หรือไม่ กรณีที่กกต.บอกว่า กรณีการฮั้ว หากไม่มีหลักฐานเรื่องการจ่ายเงินก็จะจับได้ยากนั้น ตนไม่เชื่อว่า คน 4 หมื่นคน แล้วกกต.จะไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน อยู่ที่ว่าจะสืบคดีหรือไม่ ตนขอเรียกร้องผู้สมัครที่อาจจะถูกชักจูงในทางที่ผิดๆ มีการจ่ายเงิน ชักจูงจริงแล้วถูกหักหลังก็ขอให้นำหลักฐานมายื่นต่อกกต.ได้เลย นี่จึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง  

“ครั้งนี้ กกต.ต้องเร่งก็ศักดิ์ศรีอันศักดิ์สิทธิ์ของกกต. ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่แค่การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งใครๆ ก็จัดเลือกตั้งได้ ประชาชนอาจะทำได้ไม่ดีเท่ากกต. แต่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของกกต. เรื่องการจับทุจริต รู้ว่ามีความผิดแล้วดำเนินคดีอย่างไร การทำหน้าที่ของกกต.ชุดนี้ทำให้นึกถึงการทำหน้าที่ของกกต.ชุดก่อนๆ นี้ ไม่ได้ปล่อยผ่านไปง่ายๆ นั่นคือการทำหน้าที่อย่างศักดิ์สิทธิ์” นายจาตุรันต์ กล่าว