การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 นั้น ได้สร้างผลบวกอย่างมากต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งรัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ มีส่วนในการสร้างความต้องการซื้อห้องชุดจากชาวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติทั่วประเทศ 3,938 หน่วย เพิ่มขึ้น 4.3% มูลค่ารวม 18,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์รวม 173,007 ตารางเมตร ขยายตัว 2.6%
สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติต่อการโอนทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 16.7% จาก 15.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 28.6% จาก 24.3% ส่วนพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 21.1% จาก 19.1% ซึ่งนับว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้สัดส่วนที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ปี 2562) ที่มีสัดส่วนหน่วยและมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10.1% และ 15.6% สะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่เป็นคนต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีการซื้อห้องชุดที่มีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงปีก่อนหน้า
สำหรับจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ชลบุรี 1,521 หน่วย คิดเป็น 38.6% มูลค่า 4,165 ล้านบาท 2. กรุงเทพมหานคร 1,498 หน่วย คิดเป็น 38.0% มูลค่า 10,699 ล้านบาท 3. เชียงใหม่ 249 หน่วย มูลค่า 574 ล้านบาท 4. ภูเก็ต 242 หน่วย มูลค่า 1,353 ล้านบาท และ 5. สมุทรปราการ 140 หน่วย มูลค่า 392 ล้านบาท แม้ชลบุรีมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เป็นอันดับ 1 แซงกรุงเทมหานนครในปี 2566 แต่กรุงเทพฯ ก็ยังคงเป็นจังหวัดที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสูงที่สุดมาโดยตลอด
ด้านราคาห้องชุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็น 52.9% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด รองลงมาคือราคา 3.01-5 ล้านบาท คิดเป็น 22.7% และ 5.01-7.5 ล้านบาท คิดเป็น 11.1% ตามลำดับ ช่วงราคามากกว่า 10.00 ล้านบาทขึ้นไป มีสัดส่วน 8.3% และระดับราคา 7.51 - 10.00 ล้านบาท มีสัดส่วน 5%
สำหรับขนาดห้องชุดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือช่วง 31-60 ตารางเมตร (ประเภท 1 - 2 ห้องนอน) เป็นสัดส่วน 49.6% รองลงมาคือไม่เกิน 30 ตารางเมตร (สตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน) คิดเป็นสัดส่วน 35.5% ตามมาด้วย ห้องชุดขนาดพื้นที่ 61 - 100 ตารางเมตร (2 - 3 ห้องนอนขึ้นไป) มีสัดส่วน 10.1% และ ห้องชุดขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร (3 ห้องนอนขึ้นไป) มีสัดส่วนร้อยละ 4.8%
ทั้งนี้ ห้องชุดที่ชาวต่างชาติซื้อในไตรมาสนี้มีขนาดเฉลี่ย 43.9 ตารางเมตร มูลค่าเฉลี่ย 4.6 ล้านบาทต่อหน่วย หรือประมาณ 104,119 บาทต่อตารางเมตร โดยชาวสิงคโปร์มีมูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 5.9 ล้านบาท ขณะที่ชาวอเมริกันซื้อห้องชุดขนาดใหญ่ที่สุดพื้นที่เฉลี่ย 60.3 ตารางเมตร
ด้านสัญชาติของผู้ซื้อ ชาวจีนยังครองอันดับ 1 ด้วยยอดซื้อ 1,596 หน่วย (43.8%) มูลค่า 7,570 ล้านบาท ตามมาด้วยชาวพม่า 392 หน่วย (10.0%) มูลค่า 2,207 ล้านบาท และชาวรัสเซีย 295 หน่วย (7.5%) มูลค่า 924 ล้านบาท โดยชาวพม่ามียอดซื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 415.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
REIC ยังตั้งข้อสังเกตว่า คนต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะซื้อมือสองอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติที่เป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองในด้านจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์มีอัตราส่วน 55.2 : 44.8 ด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์มีอัตราส่วน66.2 : 33.8 และในด้านส่วนพื้นที่ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์มีอัตราส่วน 50.6 : 49.4 ซึ่งคนต่างชาติอาจมีความต้องการห้องชุดมือสองที่มักจะอยู่ในทำเลพื้นที่ชั้นในหรือพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีอุปทานให้เลือกน้อยลง ประกอบกับราคาห้องชุดมือสองในทำเลเหล่านี้มีราคาที่ต่ำกว่าโครงการเปิดใหม่ ห้องชุดมือสองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อสัญชาติจีน