thansettakij
กกต.แถลงปล่อยผีรับรอง 200 สว. สอยกลุ่มสื่อ 1 คน เลื่อนตัวสำรองเสียบแทน

กกต.แถลงปล่อยผีรับรอง 200 สว. สอยกลุ่มสื่อ 1 คน เลื่อนตัวสำรองเสียบแทน

10 ก.ค. 2567 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2567 | 10:53 น.

กกต.ปล่อยผี สว. 200 คน และสำรอง 99 คน สอยแค่ 1 คน "คอดียะฮ์ ทรงงาม" เหตุขาดคุณสมบัติ เป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง เลื่อนตัวสำรองเสียบแทน “แสวง”รับฮั้ว-บล็อกโหวตเป็นขบวนการ ประสาน ตำรวจ-ดีเอไอ-ปปง.สอบ

วันที่ 10 ก.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน ว่า หลังจากวันที่ 3 ก.ค. กกตสามารถประกาศรับรองผลได้ แต่มาตรา 42 พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 กำหนดเงื่อนไขว่า

การดำเนินการเลือกต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ไม่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งมี 3 เงื่อนไข ที่กกต.ต้องพิจารณาคือ 
1.มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.หรือไม่ สำนักงานกกต.ได้รวบรวมกลุ่มความผิด ที่อาจจะนำมาพิจารณาเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศผลการเลือก สว. ครั้งนี้คือ

1. คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม หมายรวมถึงการสมัครลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วย 2. กระบวนการในการดำเนินการเลือก ในวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. 3. ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งสังคมจะใช้กันว่าการจัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว 
กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามห้ามมี 3 เรื่องคือ มีผู้สมัครที่สนใจมาสมัครช่วงเปิดรับสมัคร 5 วันจำนวน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอได้ ตรวจสอบคุณสมบัติ และไม่รับสมัครไป 1,917 คน เมื่อรับสมัครไปแล้ว ก็ได้ลบชื่อก่อนการเลือกระดับอำเภออีก 526 คน 

ก่อนผ่านชั้นจังหวัดก็ได้ลบผู้มีสิทธิ์เลือกไปอีก 87 คน และผ่านมาระดับประเทศผอ.ระดับประเทศก็ลดไปอีก 5 คน รวมแล้วมีการตรวจสอบและคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติในลักษณะต้องห้ามออกไป 2,000 เกือบ 3,000 คน 

กกต. มีมติระงับสิทธิสมัครชั่วคราว หรือให้ใบส้ม เรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรค 3 วรรค 4 ระงับสิทธิ์สมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งด้วย อีก 1 คน  เนื่องจากเข้าได้เข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว จึงเป็นผู้มีส่วนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนระดับอำเภอที่ลบไป 500 กว่าคน ไม่ได้ให้ใบส้ม เพราะยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเลือกระดับอำเภอ แต่จะพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครแต่ยังลงสมัครรับเลือก ซึ่งถือเป็นคดีอาญา

ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนดังกล่าวคิดเป็น 65% หรือราวๆ 600 กว่าเรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ที่มาเข้ามาจนถึงขณะนี้ประมาณ 800 กว่าเรื่องโดยเป็นทั้งความปรากฏ ผู้สมัครมาร้องเอง และที่กกต.การลบชื่อออก ดังนั้นเหลืออยู่ราวๆ  200 เรื่อง ที่ต้องพิจารณา   

ส่วนกรณีการสมัครไม่ตรงกลุ่ม ที่ถูกวิจารณ์ว่าคนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร สังคมอาจเข้าใจยังไม่ตรงมาก เพราะเวลาพูดถึงกลุ่มอาชีพ ซึ่งตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ และ คำว่ากลุ่มตามมาตรา 11 ของพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว. 2561ไม่มีกลุ่มอาชีพ แต่เป็น “กลุ่มของด้าน” ทั้ง 20 ด้าน ในแต่ละด้านจะมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่ง มีคน 6 ประเภท ที่สามารถเป็นผู้สมัครได้ ไม่ใช่แค่อาชีพอย่างเดียว 

1. คือมีความรู้ในด้านนั้น 2. มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น 3. มีอาชีพในด้านนั้น 4.มีประสบการณ์ด้านนั้น 5.มีลักษณะและประโยชน์ร่วมกัน และ6. ทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน ซึ่งกฎหมายเปิดกว้างให้คนสมัครด้านใดด้านหนึ่งได้ และมีผู้รับรอง 1 คน 

นายแสวง กล่าวต่อว่า 2.ความผิดในการดำเนินการในวันเลือก คือวันที่ 9 วันที่ 16 และวันที่ 26 มิ.ย. มีสำนวนมาร้อง 3 สำนวน กกต.พิจารณาเสร็จแล้ว และมีสำนวนที่ไปร้องศาลฎีกา 18  คดี ตามมาตรา 44 ศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดี แล้ว 

และส่วนที่ 3 การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรม  มือถือสังคมเรียกว่าการจัดตั้งการถือว่าการบล็อคโหวต ตอนนี้มีอยู่ 47 เรื่อง สำนักงานฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ได้มาพอสมควร ลักษณะที่รวบรวมได้พบว่า เป็นขบวนการที่ต้องอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน

จึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งเจ้าหน้าที่ 23 นาย มาช่วยตรวจสอบ  โดยจะใช้เทคนิคอุปกรณ์มาตรวจสอบความเชื่อมโยง ของผู้สมัคร หรือคนอยู่เบื้องหลัง เพื่อนำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา เรื่องการกระทำที่อาจจะทำให้การเลือกไม่สุจริต 

“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้ทั้ง 3 กลุ่มความผิด กระบวนการเลือกตั้ง 3 ระดับจบหมดแล้ว ไม่มีคดีค้างที่ศาล ถือว่าการเลือกเป็นไปโดยชอบ ในส่วนของความไม่สุจริต และเที่ยงธรรม เมื่อมีคำร้อง สำนักงาน กกต. ได้รับเป็นสำนวนเอาไว้  แต่ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียง ที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด ต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงตามที่กฎหมายกำหนด ชั้นนี้จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม 

                            แสวง บุญมี เลขาฯ กกต. แถลงมติ กกต.ที่ประกาศรับรอง สว. 200 คน และตัวสำรอง 99 คน แสวง บุญมี เลขาฯ กกต. แถลงมติ กกต.ที่ประกาศรับรอง สว. 200 คน และตัวสำรอง 99 คน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กกต.จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกสว. เป็นไปด้วยความสุจริตที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือกสว.ของแต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1 ถึง 10 ของแต่ละกลุ่ม เป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่มเป็นบัญชีสำรอง 

ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่งกกต. ให้ใบส้มผู้ได้รับเลือก 1 คน ซึ่งอยู่ในลำดับ ที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนสำรองลำดับที่ 11 ขึ้นมาแทน ทำให้เหลือสำกลุ่มนี้แค่ 4 คน ดังนั้น กกต.รับรองครบ 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน เรียบร้อยเพื่อให้เปิดสภาได้โดย สว.ทั้ง 200 คนสามารถมารับหนังสือรับรองการเป็นสว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11-12 ก.ค.เวลา 8:30 -16:30 น.ที่สำนักงานกกต.

ทั้งนี้ นายแสวง ยืนยันว่า การประกาศไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.มาตรา 62 ส่วนที่ได้ใบส้มไป 1 คน จนต้องเลื่อนสำรองมาแทน เพราะพบความผิดชัดเจนในเรื่องของคุณสมบัติ

เมื่อถามว่า การที่กกต.ประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้กกต.ต้องประกาศบัญชีสว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็ทำไปแล้ว ซึ่งตามพ.ร.ป.การได้มาซึ่งสว.มาตรา 42 ไม่ได้เขียนกรณีดังกล่าวไว้ แต่กกต.มาออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้กกต.สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้ 

เมื่อถามว่าทำไม่ไม่รับรองไปก่อนแล้วค่อยมาสอยทีหลัง จะได้ไม่เกิดปัญหา นายแสวง กล่าวว่า มีคำพิพากษาของศาลฎีกาวินิจฉัยวางแนวเอาไว้แล้ว  เมื่อเราพบ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร และวันนี้จะส่งประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่ กกต.ให้ “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยในใบสมัคร ระบุประวัติการทำงานว่า “ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย” และเป็นที่ปรึกษานายกอบจ. อ่างทอง 

โดยตำแหน่งที่ปรึกษานายกอบจ. ศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่า เป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว และผู้ที่ได้รับการเลื่อนลำดับให้ขึ้นเป็น สว. คือ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 

โดย ว่าที่ พ.ต.กรพด เปอดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)