เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สว.ใหม่ผนึกตั้งกลุ่ม

12 ก.ค. 2567 | 08:52 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 09:07 น.

เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สว.ใหม่ผนึกตั้งกลุ่ม : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐ ฉบับ 4009 ระหว่างวันที่ 14-17 ก.ค. 2567

KEY

POINTS

 

  • เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วสำหรับ สว.ชุดใหม่ หลัง กกต.ประกาศรับรองผลผู้ได้รับเลือก ทั้ง 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน

 

  • จับตา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ มงคล สุระสัจจะ อดีตบิ๊กกรมการปกครอง สาย “บ้านใหญ่บุรีรัมย์”ทั้งคู่ ถูกดันนั่งเก้าอี้ประธานสภาสูง

 

  •  30 สว.กลุ่มอิสระ ตั้งกลุ่มเล็งส่งตัวแทนชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ชี้ตำแหน่งประมุขสภาสูงควรมีสัดส่วนของผู้หญิง
     

เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วสำหรับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลผู้ได้รับเลือกเป็น สว. 2567 ทั้ง 200 คน และบัญชีสำรอง 99 คน ไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567

ขณะที่ทาง กกต. ก็ได้ส่งประกาศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา อย่างเป็นทางการไปในช่วงค่ำวันเดียวกัน

หลังจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดให้ สว.ชุดใหม่ เข้ารายงานตัว  ในวันที่ 11, 12 และ 15 ก.ค.นี้ และหลังเข้ารายงานตัวครบถ้วน จะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ สว. 200 คน กล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และเลือกประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา 2 คน

เมื่อได้ ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา แล้ว ทางเลขาธิการวุฒิสภา จะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

“เกรียงไกร-มงคล”ลุ้นคุม สว. 

ภารกิจแรกของ สว.ชุดใหม่ คือ การเลือก ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น “รองประธานรัฐสภา” ตามรัฐธรรมนูญ 

โดยตัวเต็งประธานวุฒิสภา น่าจับตาไปที่ 2 คน คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือ “บิ๊กเกรียง”  อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็น สว.จากกลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มดังกล่าว และ มงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง  สว.จากกลุ่มเดียวกัน

สำหรับ พล.อ.เกรียงไกร นั้น มีความสนิทสนมกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะเพื่อร่วมรุ่น วปอ. ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย เมื่อ 15 ม.ค. 2567 

ว่ากันว่า พล.อ.เกรียงไกร อาจจะได้รับการผลักดันให้นั่งประธานสภาสูง เพราะนอกเหนือจากจะสนิทสนมกับ อนุทิน แห่งค่ายสภูมิใจไทยแล้ว ยังถือเป็นบุคคลที่มีคอนเน็กชันเชื่อมโยงได้ทั้ง “อำนาจเก่า” และ “อำนาจใหม่”  

ส่วน มงคล สุระสัจจะ ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” เพราะเป็นอดีตประธานคณะทำงานของ ทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย

"มงคล"ไม่คิดฝันนั่งประธานสว. 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายมงคล สุระสัจจะ ได้เข้าแสดงตนรับตำแหน่ง สว. พร้อมระบุถึงกระแสข่าวการเป็นตัวเต็งนั่งประธานวุฒิสภา ว่า  ทำให้รู้สึกเครียด กดดัน ซึ่งการได้มาถึงจุดนี้ถือว่าเป็นบุญวาสนา

“ผมยังใหม่มาก เป็นครั้งแรกในชีวิตถือว่าใหม่มาก คงยังพูดอะไรไม่ได้ ผมไม่ทราบ เพราะไม่ได้คิด ไม่ได้ฝัน เรื่องนี้ยังคิดอะไรไม่ได้”

ตั้งกลุ่มชิงประธานสภาสูง

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส  สว.กลุ่มสื่อมวลชน เปิดเผยถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า ในกลุ่ม สว.อิสระ ได้พูดคุยกัน ซึ่งนัดรายงานตัววันที่ 15 ก.ค.นี้  โดยในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 30 คน เป็นกลุ่มอิสระที่จะร่วมอุดมการณ์กันและเชื่อว่าจะมีเพิ่มขึ้น 

“กลุ่มนี้จะมีบทบาทต่างจากกลุ่ม 40 สว.ในอดีต เนื่องจาก สว.ปัจจุบันมาด้วยอุดมการณ์ และมีวาระที่จะขับเคลื่อนผลักดันวาระของประชาชนร่วมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของกลุ่ม หรือ กดปุ่มสั่งการใดๆ มีจิตวิญญาณเสรี” 

น.ส.นันทนา กล่าวยอมรับว่า ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนมี สว.ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนใหญ่ ที่น่าจะมีเสียงค่อนข้างมาก แต่กลไกตามระบอบประชาธิปไตย เห็นว่า ควรมีบุคคลที่มีศักยภาพ และมีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งทางกลุ่มก็จะส่งไปชิงตำแหน่ง 

“ขอยังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ ขอหารือกันก่อน และยังไม่ทราบว่าจะเป็นตนเองหรือไม่ และเชื่อว่า สว.ที่ได้รับเลือกเข้ามามีอุดมการณ์ที่ทำงานให้ประชาชน”

“นวลนิจ”พร้อมนั่งประธาน 

น.ส.นวลนิจ หงษ์วิวัฒน์ สว.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ กล่าวถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า ตำแหน่งประมุขของสภาสูงควรที่จะมีสัดส่วนของผู้หญิง เพราะผู้หญิงเป็นครึ่งหนึ่งของท้องฟ้า และประเทศไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนิดหน่อย  

“ตนเองก็พร้อมถ้าหากได้รับการเสนอชื่อ ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งเพราะว่าทำงานต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีอยู่แล้ว และเคยทำงานที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเข้ามาสิ่งแรกที่ควรนึกถึงคือ ผู้หญิง เพราะผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานมาก จึงควรต้องได้รับการยกย่องและได้รับสิทธิ์ต่างๆ แม้ว่าประเทศของเราจะให้สิทธิกับผู้หญิงมากแล้ว แต่ยังมีหลายสิ่งที่ควรเพิ่มเติม ถ้าผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีประเทศก็จะเจริญรุ่งเรือง”

“ชิบ”ชี้นักก.ม.เหมาะประธาน

นายชิบ จิตนิยม สว.กลุ่มสื่อมวลชน กล่าวว่า บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา เป็นบทบาทสำคัญที่ต้องมีความรู้ ความสามารถ ทำการบ้านเยอะ โดยเฉพาะตำแหน่งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา เรื่องของตัวบทกฎหมาย ระเบียบวาระต่างๆ ต้องมีความแม่นยำ 

“ทำอย่างไรให้สภามีความสมดุล ซึ่ง สว.แต่ละคนที่เข้ามาก็หวังผลักดันวาระของตน การตั้งกรรมาธิการชุดต่างๆ การจัดทำยุทธศาสตร์ ซึ่งประธานวุฒิสภาต้องแม่นมากๆ ถือเป็นความท้าทาย

เมื่อถามว่าตำแหน่งประธานวุฒิสภา จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือ นักบริหารจึงจะมีความเหมาะสมมากกว่ากัน นายชิบ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ควรเป็นนักกฎหมาย 

“ยอมรับว่าได้มีการพูดคุยกันภายในกลุ่ม ถึงการส่งบุคคลเข้าไปชิงตำแหน่งประธาน และ รองประธานวุฒิสภา ดูว่าหากจำนวนในขณะนี้ต้องยอมรับว่า บางคนก็มีเสียงหนุนเกินครึ่งของวุฒิสภา และ สว.อิสระก็มีมาก หากตัวท่านเองมีจุดยืน ก็คงต้องต่อสู้ตามกระบวนการ” นายชิบ ระบุ

                              เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา สว.ใหม่ผนึกตั้งกลุ่ม

"ผู้ว่าฯปู"ยังไม่คิดเรื่องประธาน

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กล่าวถึงรายชื่อแคนดิเดตประธานวุฒิสภา 2 คนที่ออกมาว่า เป็นแค่การคาดการณ์ยังต้องพูดคุยกันอีกมาก เบื้องต้นทั้ง 2 ท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าจะต้องมีการพูดคุยกัน ส่วนตัวยังไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังต้องมีการปรึกษากับเพื่อน สว.ก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวสว.สายสีน้ำเงิน ที่มีจำนวนเสียงเกิน 150 คน จะทำให้การทำงานในสภาเป็นไปโดยเอกภาพ หรือ เผด็จการ หรือไม่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่พูดกันไป อย่างตนยังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ในสายไหน ยังจะต้องใช้เวลาในการเจรจาร่วมกัน

“หมอเกศกมล"มีชื่อปธ.สว.ในใจ 

พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ กล่าวถึงตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่า มีคิดไว้ในใจแล้ว แต่ขอฟังเสียงที่ประชุมก่อนว่าจะเป็นอย่างไร  

ส่วนที่ตอนนี้มีการนัดพบกันเพื่อคุยตำแหน่งประธานวุฒิสภา ได้มีการเข้ากลุ่มแล้วหรือยัง พญ.เกศกลม กล่าวว่า ยังไม่ได้ร่วม อาจจะมีรู้จัก สว. ที่ได้รับเลือกในวันเลือกบ้าง
                             +++++++++++

เปิด 4 ภารกิจรอสว.ชุดใหม่

สำหรับ สว.ชุดใหม่ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนชุดเก่านั้น มีวาระสำคัญที่รอให้เข้ามาพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ประกอบด้วย

1.การคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี จำนวน 1 คน

โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้สรุปรายชื่อผู้สมัครมี 11 คน ขั้นตอนต่อจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ เชิญผู้สมัครมาแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนสรุปรายชื่อผู้ได้รับเลือกส่งให้วุฒิสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ 

2.การสรรหาคนเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน แทน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะครบวาระ ซึ่งสำนักเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครตั้งแต่วันอังคารที่ 2 ก.ค.- 16 ก.ค.2567 นี้

3.ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ที่เตรียมพิจารณาวาระ 2 และ 3 ก่อนเสนอให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

4.การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 (งบกลางปี 67) เพื่อจัดทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบ เมื่อ 21 พ.ค. 67 โดยจะเสนอเข้าสภาในเดือน ก.ค. หากผ่านสภาวาระ 3 ในเดือน ส.ค. จะส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ คาดเป็นช่วงกลางเดือน ส.ค.