วันนี้(16 ก.ค. 67) ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า วันนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายยื่นคำร้องเพิ่มเติมแก่ศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ส่วนสำคัญคือ
1.โต้แย้งผู้ร้อง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นเข้ามาในสำนวน หรือเรียกว่า “หมาย ร.” เนื่องจากเมื่อตรวจเอกสาร กกต.ที่เข้าสู่สำนวน พบว่า ตามเอกสารหลักฐานของ กกต.เอง ยิ่งชี้ชัดให้เห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องให้ศาลยุบพรรคก้าวไกลในคดีนี้ มิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้แย้งไปในเรื่องนี้ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่
ส่วนประเด็นที่โต้แย้งไป และเรียกพยานมาไต่สวนประเด็นนี้ด้วยคือ ตน ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน รวมถึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกเอกสารเพิ่มเติมจาก กกต.ซึ่งถูกอ้างอิงในพยานหลักฐานที่มีการส่งเข้าสำนวนแล้ว แต่ไม่มีการยื่นเข้ามาด้วย แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน
2.โต้แย้งหรือโต้เถียง เอกสารศาลรัฐธรรมนูญที่นำเข้ามาสู่สำนวนคือคำวินิจฉัยที่ให้พรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือ “หมาย ศ.” คือ ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้ก่อนหน้านี้ที่เคยวินิจฉัยไปแล้ว ในคดีก่อนหน้านี้
ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการไต่สวนในข้อเท็จจริงที่อ้างถึงพยานหลักฐานและเอกสารดังกล่าวเลย ทำให้พรรคก้าวไกล เราไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้ในแง่ข้อเท็จจริงที่ถูกระบุในคดีเหล่านี้ เพราะไม่มีการไต่สวน ไม่เปิดโอกาสให้เราโต้แย้งในกระบวนการไต่สวน
ดังนั้น คดีก่อนหน้านี้เราขาดโอกาสที่จะโต้แย้ง เป็นการฟังความข้างเดียว เป็นเอกสารที่มาจากหน่วยงานความมั่นคงคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวให้ยกเลิก มาตรา 112 ในหลายกรณี ซึ่งไม่เป็นความจริง ถึงขอให้มีการไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด
นายชัยธวัช ยกตัวอย่าง ในเอกสารของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ เมื่อ 27 ต.ค. 2564 ซึ่งขณะนั้นยังมิได้เป็น ส.ส.ก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อ กมธ.กฎหมายฯ ให้พิจารณาการดำเนินคดีมาตรา 112 ไร้มาตรฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน แถมกล่าวหาว่าเป็นการวางแผนเพื่อให้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไปอภิปรายมาตรา 112 ในสภาฯ แต่ นายรังสิมันต์ มิได้กระทำตามที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาเลย เป็นต้น
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมิควรรับฟัง รวมถึงการที่ นายรังสิมันต์ โรม กับ น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ไปรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ต้องบอกว่า เขากระทำการในฐานะบุคคล เขาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการกระทำของพรรค และเมื่อไปตรวจข้อความที่เขาโพสต์ ในข้อความก็ไม่ได้มีเนื้อหาเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เลย เพียงแต่อาจมีการติดแฮชแท็ก แต่เนื้อหาไม่เกี่ยว เป็นเรื่องปกติในโลกโซเชียลมีเดีย อย่างนี้เป็นต้น
นายชัยธวัช อธิบายถึงไทม์ไลน์ในการยื่นยุบพรรคก้าวไกลของ กกต.สรุปได้ว่า ในเอกสาร กกต.ทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้นว่าการยื่นคำร้องยุบพรรคของ กกต.มาอย่างไร
แรกเริ่มเดิมทีเรื่องเกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 นายพัชรนน คณาโชติโภคิน ได้ยื่นร้องต่อ กกต.ว่า การหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่แก้ไขมาตรา 112 กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) กล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลกระทำการอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อยื่นคำร้องไปแล้ว ปรากฏว่า กกต.รับคำร้องไปดำเนินการ มีการมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 2 ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น แต่หลังจากตรวจสอบไประยะหนึ่ง คณะกรรมการฯ คณะที่ 2 เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พรรคก้าวไกลมีเจตนากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองดังกล่าว จึงเป็นกรณีคำร้องที่ไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลเพียงพอ
เมื่อเลขาธิการ กกต.ได้รับหนังสือดังกล่าว เห็นว่า คำร้องของ นายพัชรนน เป็นประเด็นเดียวกันกับ ณ ขณะนั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกศร ที่ร้องให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทำให้เลขาธิการ กกต.มีความเห็นว่า ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวก่อน โดยเลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง รับทราบเรื่องนี้ และเป็นไปตามระเบียบของ กกต. ทำตามระเบียบปกติ
ต่อมา เมื่อ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ 3/2567 สั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 สรุปคือ เลิกการแสดงความเห็นในการยกเลิกมาตรา 112 และห้ามไม่ให้มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 โดยกระบวนการที่ไม่ได้เป็นไปตามนิติบัญญัติโดยชอบ ห้ามแค่ 2 ประการนี้
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายธีรยุทธ สุวรรณเกศร ไปยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว พรรคก้าวไกลกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง
หลังจาก กกต.ได้รับคำร้อง ปรากฏว่า ในวันที่ 12 ก.พ. 2567 สำนักกิจการพรรคการเมือง มีความเห็นไปยังเลขาธิการ กกต.ว่า เมื่อพิจารณาคำร้องเดิมของนายพัชรนน และคำร้องใหม่ 2 คำร้องของนายเรืองไกร และนายธีรยุทธ ประกอบกับเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ออกมาแล้ว สำนักกิจการพรรคการเมือง พิจารณาเห็นว่า เป็นกรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลอาจทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) ของกฎหมายพรรคการเมือง
จึงทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นควรให้รับคำร้องนี้ไว้ดำเนินการ โดยทั้ง 3 คำร้องนี้เป็นประเด็นเดียวกัน ให้รวมเป็นเรื่องเดียวกันเลย และให้คณะกรรมการฯ คณะที่ 6 ไปรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เป็นการดำเนินการตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งออกมาปี 2566 ใช้สำหรับการยื่นยุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะ
นายทะเบียนพรรคการเมือง มีความเห็นสอดคล้องกับสำนักกิจการพรรคการเมือง เห็นว่า กรณีนี้เป็นกรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลอาจกระทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) คือกระทำการล้มล้าง
ดังนั้น นายทะเบียนพรรคการเมือง จึงทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน คณะที่ 6 ไปดำเนินการตามระเบียบของ กกต.
เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า กรณีนี้เป็นตามมาตรา 92 แล้ว จึงสั่งให้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ตามมาตรา 93 แห่งกฎหมายพรรคการเมือง ประกอบระเบียบ กกต.ฉบับใหม่ปี 2566 และทำหนังสือแจ้งไปยัง ประธาน กกต. (นายอิทธิพร บุญประคอง) และ กกต.ทุกคน ให้ทราบว่า กรณีมีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ทั้ง 3 คำร้องนั้น
ประกอบกับเมื่อมีคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ออกมาแล้วนั้น ให้รวมเป็นสำนวนเดียวกัน นี่เป็นกรณีที่ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลอาจกระทำผิดแล้วตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) จึงให้ดำเนินการตามมาตรา 93 และระเบียบของ กกต.
ต่อมาสำนักงาน กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่สั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กระทั่ง 7 มี.ค. 2567 คณะกรรมการฯ คณะที่ 6 ประชุมกันแล้วเห็นว่า คดียังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอื่น นอกเหนือจากคำร้อง 3 ฉบับ เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
จึงทำหนังสือถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองขอขยายเวลารวบรวมพยานหลักฐานอีก 30 วัน โดยทำหนังสือเมื่อ 11 มี.ค. 2567 และไปถึงนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อ 08.40 น.วันที่ 12 มี.ค. 2567 โดยนายทะเบียนอนุมัติเห็นชอบ
ทว่าในวันเดียวกัน (12 มี.ค.) ในช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยง มีการประชุม กกต. โดยวาระสำคัญคือ เรื่องที่สำนักงาน กกต.นำเสนอรายงานวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ปรากฏว่า ในที่ประชุม กกต.รับทราบรายงานผลดังกล่าวแล้ว ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกล กระทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) แต่แทนที่ผลของความเห็นของรายงานฉบับนี้จะถูกเอานำไปใช้ประกอบสำนวนของคณะกรรมการฯ คณะที่ 6 ที่กำลังดำเนินการมาเกือบ 1 เดือนแล้ว
ปรากฏว่า ที่ประชุม กกต. มีมติโดยทันทีให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยที่ตลอดมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า เป็นกรณีที่ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า จึงสั่งรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการยื่นคำร้องยุบพรรคตามมาตรา 92 ให้ดำเนินการตามมาตรา 93 และระเบียบ กกต.ที่ยังไม่แล้วเสร็จ
นายชัยธวัช ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ในบันทึกการประชุมของ กกต.วันที่ 12 มี.ค. 2567 มีการทบทวนผลการประชุมในครั้งก่อนหน้าคือ 5 มี.ค. 2567 ว่า กกต.มีข้อสังเกต และสั่งให้สำนักงาน กกต.ไปแก้ไขร่างคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ให้กระชับขึ้น รวมถึงให้ทำร่างคำร้องมอบหมายให้สำนักงาน กกต.ยื่นคำร้องแทนด้วย
แสดงว่า เท่าที่เอกสารที่เราเห็น หมายความว่าตั้งแต่ก่อน 5 มี.ค. ตั้งแต่ก่อนที่ กกต.จะรับทราบรายงานวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 3/2567 นั้น มีการดำเนินการให้ไปร่างคำร้องยุบพรรคการเมืองคือพรรคก้าวไกลแล้ว ตั้งแต่แรก ตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังรายงาน ตั้งแต่ขณะที่การดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่สั่งการโดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังดำเนินการอยู่ไม่แล้วเสร็จ
หลังจากนั้นเมื่อ กกต.ประชุมแล้วเสร็จ ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน (12 มี.ค.) คณะกรรมการฯ คณะที่ 6 เลยประชุมกันเห็นว่า พอเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุให้รวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อเสนอนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณา และไม่มีเหตุให้เสนอแก่ที่ประชุม กกต.พิจารณาอีก คือ ยังทำงานไม่เสร็จ สอบสวนไม่เสร็จ สำนวนยังไม่เสร็จ
แต่ปรากฏว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเอกฉันท์ให้ยื่นยุบพรรคก้าวไกลตามมาตรา 92 แล้ว แต่ไม่ได้เสนอให้ยุติ แค่ไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินการต่อ และเสนอไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งเลขาธิการ กกต.เห็นชอบทันที แถมลงนามด้วยลายมือเพิ่มเติมว่า ให้ยุติการรวบรวมพยานหลักฐานตามมาตรา 93
ทั้งที่ตามระเบียบของ กกต.ฉบับใหม่ปี 2566 ที่ใช้ในการยุบพรรคโดยเฉพาะนั้น มีการระบุเหตุให้ยุติเรื่องแค่ 2 อย่างคือ กรณีพยานหลักฐานครบถ้วนเพียงพอ หรือพยานหลักฐานไม่มีมูล เท่ากับว่า การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง สั่งให้คณะ 6 ยุติ จึงเป็นการสั่งให้ยุติโดยขัดกับระเบียบของ กกต.เอง
“ทำไมเป็นแบบนี้ เพราะว่าระเบียบของ กกต.ออกแบบมาตามกฎหมาย คือว่า ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 นั้นเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค มาตรา 93 เป็นการกำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองไปดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อให้ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าที่จะยุบพรรค และระเบียบนั้นออกมารองรับ ระบบกฎหมายแบบนี้
ดังนั้นในกฎหมายและระเบียบของพรรคการเมือง เขาจึงไม่เคยคิดว่าจะมีการยุติการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะอยู่ดี ๆ กกต.ยื่นยุบพรรคตามมาตรา 92 เลย โดยที่การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เหตุผลก็ง่าย ๆ มันก็เลยเป็นปัญหาเกิดขึ้น”
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ที่พูดมาทั้งหมดจะบอกว่า เราตรวจพยานหลักฐาน เอกสารของ กกต.แล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การยื่นคำร้องยุบพรรคในคดีนี้ ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง
เพราะตลอดเวลาตั้งแต่ต้นเรื่องที่เล่าให้ฟัง เมื่อเกิดกรณีที่ กกต.โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า เข้ากรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าตามมาตรา 92 ก็มีการดำเนินการไปรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามมาตรา 93 และระเบียบของ กกต.มาโดยตลอด และยังดำเนินการไม่เสร็จด้วย
แต่ปรากฏว่า ถึงวันที่อนุมัติให้ขยายเวลารวบรวมหลักฐาน ในวันเดียวกันอยู่ดี ๆ กกต.ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 12 มี.ค. ไปมีการดำเนินการให้ไปร่างคำร้องยุบพรรคการเมืองแล้ว โดยไม่สนใจการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้นที่ กกต.โดยนายทะเบียนพรรค และคณะที่ 6 ดำเนินการอยู่ และไม่สนใจที่จะรอฟังการนำเสนอรายงานผลวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะเมื่อนำเสนอปุ๊บ สั่งให้ยุบพรรคทันที และให้เอาร่างคำร้องยุบพรรค ที่สั่งให้สำนักงาน กกต.ไปแก้ไขมา อนุมัติเห็นชอบเลย ต่อมาช่วงเย็นคณะ 6 ไม่รู้ทำอย่างไร จึงบอกว่า ไม่มีเหตุให้ทำงานต่อแล้ว เพราะอยู่ดี ๆ มีทางด่วนไปแล้ว จึงแจ้งเลขาธิการ กกต. ทำให้สั่งยุติการสอบสวน ทั้งที่ไม่มีเหตุตามระเบียบของ กกต.”
เมื่อถามว่าเอกสารหลักฐานที่ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง นายชัยธวัช กล่าวว่า เอกสารหลักฐานที่ กกต.ส่งไปทั้งหมดเป็นเอกสารภายใน เกี่ยวข้องกับการร้องยุบพรรคก้าวไกล ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
เมื่อถามว่าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นจะฟ้องกลับ กกต.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ใช่ประเด็นในตอนนี้ ตอนนี้คือ เราต้องโต้แย้ง ต้องค้าน เฉพาะกรณี กกต.ที่พูดถึง เพื่อให้ศาลเปิดไต่สวนเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องตามเอกสารของฝ่ายความมั่นคงด้วย ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่ ไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องใหม่ด้วย รวมถึงเอกสารที่อ้างอิงถึง แต่ กกต
เมื่อถามว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดไต่สวน จะดำเนินการอย่างไรต่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตามกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญมีดุลพินิจที่จะเปิดไต่สวนหรือไม่ก็ได้ ที่จะไต่สวนอย่างไรก็ได้ เรียกพยานคนไหนก็ได้ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยเบ็ดเสร็จ
“เพียงแต่เราหวังว่า เพื่อให้การพิจารณาคดีในครั้งนี้ มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิตพรรคการเมือง ควรมีการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมถึงโต้เถียง โต้แย้งกันในข้อกฎหมายกันอย่างเต็มที่รอบด้านสมบูรณ์อย่างถึงที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และให้ได้สัดส่วนกับข้อกล่าวหาที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
เป็นคนละมาตรฐานกับคดีก่อนหน้านี้ เพราะคดีก่อนหน้านี้เพียงแค่สั่งให้เลิกการกระทำแค่นั้น ทำได้แค่หวังว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการไต่สวน เราก็ทำอะไรไม่ได้ โดยไม่ทราบว่าหลังจากวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำโต้แย้งของเราอย่างไร เพราะเดี๋ยวศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมอีกครั้ง”