KEY
POINTS
ใกล้ถึงบทสรุปเสียที่สำหรับคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนิ่นนานกว่า 4 เดือน
เพราะนับตั้งแต่ศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 มาจนถึงวันนัดตัดสิน คือ 7 ส.ค. 2567 รวมระยะเวลาได้ 127 วัน
ความชัดเจนของวันตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล เกิดขึ้น ในวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาปรึกษาหารือในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล
และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง กก.บห. และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็น กก.บห.พรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
7 ส.ค.ชี้ตายุบก้าวไกล
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง
หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ภายในวันพุธที่ 24 ก.ค. 2567
ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่น ให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรมนูญต่อไป และศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00 น. ณ ห้องพิจารณา
2 แนวทางชี้คดีก้าวไกล
สำหรับความเป็นไปได้ในผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะออกมาในวันที่ 7 ส.ค.นี้นั้น มี 2 แนวทางคือ
1.ไม่ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง
2.ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
11กก.บห.ส่อเว้นการเมือง
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา แก้ ม.112 อ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2567 นั้น มีจำนวน 11 คน
โดยเป็นชุดที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (พ.ศ.2563-2566) และ ชุด นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (พ.ศ.2566) ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ประกอบด้วย
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ
6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห. สัดส่วนภาคใต้ 7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห. สัดส่วนภาคกลาง 8.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออก 9.อภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.พรรค สัดส่วนปีกแรงงาน 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ (ชุด ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค)
มารอลุ้นกันว่าในที่สุดแล้ว “พรรคก้าวไกล” จะต้องปิดฉากลงตามรอย “พรรคอนาคตใหม่” ไปอีกพรรคหรือไม่?
นับถอยหลังเหลืออีก 22 วันเท่านั้น จะได้รู้กันเสียทีว่า ก้าวไกล “รอด-ไม่รอด”