วันนี้ (31 ก.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BTSC และคณะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การกระทำของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่นำข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันกับที่พนักงานอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสามขึ้นไต่สวนอีกครั้ง ไต่สวนเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
และมีมติวินิจฉัยชี้มูลความผิดผู้ร้องทั้งสาม เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีอคติ ไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 23 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 และมาตรา 29 และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุด หรือ ยกเลิกการกระทำที่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้ร้องทั้งสาม
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นการที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดและการไต่สวนผู้ร้องทั้งสาม อันเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หากมีการกระทำผิดขั้นตอนใด และผู้ร้องทั้งสามเห็นว่า เป็นการกระทำละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ร้องทั้งสามสามารถใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้
เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนด กระบวนการร้อง หรือ ผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่คณะกรรมการป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพวกรวม 12 ราย ในคดีจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวปี 2555 เข้าข่ายผิดกฎหมาย
โดยในจำนวน 12 รายที่ถูกชี้มูล มี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด นายคีรี กาญจนพาสน์ ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย