“ให้ออก-ปลดออก”.....จุดจบ“บิ๊กโจ๊ก"

07 ส.ค. 2567 | 12:02 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 12:14 น.

“ให้ออก-ปลดออก” จุดจบ“บิ๊กโจ๊ก” : ผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ที่ออกมา ทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 หมดสิทธิ์ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ ...รายงานพิเศษ โดยฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

 

  • ผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ที่ออกมา ทำให้ “บิ๊กโจ๊ก” รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 หมดสิทธิ์ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15 ในปีนี้ยันปีหน้า

 

  • ทำนายชีวิตของ “บิ้กโจ๊ก” จะต้องโทษทางวินัยร้ายแรงที่รออยู่ แค่ “ให้ออก-ปลดออก” หากโดนปลดออกจะมีผลไปถึงชื่อเสียง ความด่างพร้อยในชีวิต

 

  • นับจากนี้ไป “บิ๊กโจ๊ก” แมว 10 ชีวิต จะเดินไปด้วยความลำบากมากขึ้น!!!

ถึงเวลานี้...เส้นทางชีวิตการทำงานของ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. นายตำรวจหนุ่มผู้ขึ้นเป็นผู้บังคับการ ติดยศ “พล.ต.ต.” ด้วยวัยไม่ถึง 45 ปี (เกิด 29 ตุลาคม 2513) มีอายุราชการยาวนานถึงปี 2574 หมดหวังลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15 แน่นอนแล้ว 

เป็นความหมดหวังภายหลังจากที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) มีมติยกอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และชี้ว่า คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567 “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” เป็นคำสั่งที่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่กฎหมาย และ กฎ ก.ตร. กำหนด และเป็นการ “ใช้ดุลยพินิจ” ที่เหมาะสม “เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”

จึง"วินิจฉัยยกอุทธรณ์ และยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวของผู้อุทธรณ์"!!!

แปลไทยเป็นไทยให้ชัดว่า ผลวินิจฉัย ยกอุทธรณ์ ของ ก.พ.ค.ตร.ที่เป็นที่พึ่งของ “บิ้กโจ๊ก” ในด่านแรกนั้น ส่งผลสะท้อนต่อชีวิตราชการ และเส้นทางชีวิตของนายตำรวจหนุ่มผู้โด่งดังถึง 3 ปมใหญ่

ปมแรก... คำวินิจฉัยที่ออกมาแบบนี้ เท่ากับค้ำยันว่า การให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อนสำเร็จถูกต้องแล้ว เป็นการ “ปิดประตูกลับสู่รั้วปทุมวัน” ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไปโดยปริยาย

ปมที่สอง... ผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ทำให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 หมดสิทธิ์ลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 15 ในปีนี้ยันปีหน้า ไปอีกดอกหนึ่งด้วย

ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะต่อให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน ตามสิทธิของกฎหมาย ก็ต้องใช้เวลายาวนาน อย่างน้อย 2 ปี 

แถมยังต้องลุ้นผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกว่า  จะออกมาเป็นคุณต่อตัวเอง หรือ เป็นโทษกับตัวเอง  

ปมที่สาม...ผลการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาแบบนี้ ทำให้ชีวิตของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ลำบากยากเข็ญขึ้นอีกหลายเท่า เพราะคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดในการพิจารณาตัดสินของฝ่ายบริหารคือ สตช.

นั่นทำให้ “คณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง” ที่ “บิ้กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผบ.ตร. อดีตรักษาการ ผบ.ตร. ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจอีกต่อไป

ทันทีที่ ก.พ.ค.ตร. เปิดเผยผลวินิจฉัย ก็มีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ที่มี “พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช” รอง ผบ.ตร. ผู้ซึ่งจะเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายนนี้ เป็นประธาน ว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการในสัปดาห์หน้า 

วาระหลักคือ เพื่อพิจารณานัดหมาย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พร้อมพวกรวม 5 คน ให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน สมคบกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ตามที่สมคบกัน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
เท่ากับเป็นการสตาร์ทเครื่องในเรื่อง การดำเนินการทางวินัย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ ปี 65 มาตรา 125 ที่ระบุว่า “ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 สั่งลงโทษ “ปลดออก หรือ ไล่ออก” ตามความร้ายแรงแห่งกรณี... 

ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ “แต่ห้ามมิให้ลดโทษต่ำกว่าปลดออก”
ผู้ถูกลงโทษปลดออกตามมาตรานี้ “ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ” เสมือนว่า...ผู้นั้นลาออกจากราชการ!!!

พูดกันตรงๆ แบบไม่ต้องอ้อมค้อม ผลของการพิจารณาโทษทางวินัยร้ายแรง ของ “คณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง” จะส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ มากกว่า ผลวินิจฉัย ของ ก.พ.ค.ตร.อย่างมาก

ให้ทำนายชีวิตของบิ้กโจ๊ก จะต้องโทษทางวินัยร้ายแรงรออยู่แค่ “ให้ออก-ปลดออก” เท่านั้น

ถ้าผลการสอบทางวินัยออกมาเป็นลบ บทลงโทษของ “บิ้กโจ๊ก” จะลากไปถึงเกียรติยศ ความด่างพร้อยในชีวิตข้าราชการตำรวจ และตระกูล ของ "บิ๊กโจ๊ก" ทันที
หลายคนไม่เข้าใจว่า โทษทางวินัยของข้าราชการนั้นเป็นอย่างไร  

ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หมวด 8 การออกจากราชการ มาตรา 133 ข้าราชการตำรวจออกจากราชการเมื่อ

(1) ตาย

(2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(3) ได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือการลาออกมีผลตามมาตรา 135

(4) ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 75 มาตรา 131 มาตรา 134 มาตรา 136 มาตรา 137 - 139 

(5) ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก

...วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. การออกจากราชการของข้าราชการตำรวจเฉพาะผู้ที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น…

แล้วบทลงโทษ “ให้ออก” กับ “ปลดออก” จากราชการ นั้นทรงพลานุภาพต่อชีวิตข้าราชการอย่างไร 

โทษ “ให้ออกจากราชการ” คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุผล ดังนี้ 1.ตาย 2.พ้นจากราชการด้วยบำเหน็จบำนาญ 3.ลาออกจากราชการ และได้รับอนุญาตให้ลาออก 4.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง 

“ผู้ใดถูกสั่งให้ออกจากราชการ” ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ

“ผู้ที่ถูกปลดออกจากราชการ” คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการ ซึ่งเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

แต่ทั้ง “ให้ออก-ปลดออก” ได้รับเงินชดเชย 

โดยมีเงื่อนไขแบ่งตามอายุการรับราชการ ดังนี้

ถ้าอายุราชการไม่ถึง 10 ปี จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ แต่จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ จาก กบข.

ถ้าอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จ, เงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์จาก กบข. และจะได้รับเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง

ถ้าอายุราชการ 25 ปีขึ้นไป  สามารถเลือกได้ว่า จะรับเงินบำเหน็จหรือ บำนาญ 

ใครเลือกเงินบำนาญ จะได้รับเงินประเดิม + เงินชดเชย + เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และเงินบำนาญจากกระทรวงการคลัง

ใครเลือกเงินบำเหน็จ จะได้รับเงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง
แม้ว่า โทษ “ปลดออก-ให้ออก” ถือว่ายังได้เงินบำเหน็จบำนาญอยู่

ทั้งนี้ บำเหน็จ จะคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนสุดท้าย ส่วนบำนาญคิดจาก อายุราชการ คูณกับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ในโทษทางวินัยของข้าราชการนั้น โทษ “ปลดออก” จะร้ายแรงกว่า โทษ “ให้ออก” เพราะจะมีผลไปถึงชื่อเสียง ความด่างพร้อยในชีวิต ประวัติในการสมัคร หรือ การหางานใหม่ ซึ่งจะระบุว่า เคยกระทำความผิดร้ายแรง

ครั้นจะไปสมัรคร ส.ส.ก็ทำไม่ได้ เพราะมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 102) ข้อ  2.6 “เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ”

จะไปสมัครสมาชิกวุฒิสภา ก็ไม่ได้ เพราะเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่

ครั้นจะไปสมัครองค์กรอิสระก็ไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระแทบทั้งหมดจะกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามไว้ว่า “เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือ ถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

นับจากนี้ไป “บิ๊กโจ๊ก” แมว 10 ชีวิต จะเดินไปด้วยความลำบากมากขึ้น!