เจาะลึกคำวินิจฉัย ยุบพรรคก้าวไกล กับบรรทัดฐานใหม่

09 ส.ค. 2567 | 02:24 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 07:51 น.

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. เจาะลึกคำวินิจฉัย กับบรรทัดฐานใหม่ หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10ปี

รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ สนทนากับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคก้าวไกล และสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ทั้งชุดที่ 1 และ 2 ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2564 จนถึง 31 มกราคม 2567 รวมทั้งสิ้น 11 คน เป็นเวลา 10 ปี

ผศ.ดร.ปริญญา แสดงความเห็นว่าไม่แปลกใจที่พรรคก้าวไกลถูกสั่งให้ยุบพรรค แต่แปลกใจในเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยมากกว่า เพราะเพียงอ้างคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ก็สามารถใช้เป็นเหตุในการยุบพรรคได้เลย

แต่เมื่อมีการให้เหตุผลมาเยอะจึงทำให้เกิดความกังวลอยู่ 2-3 ประการ และบางประเด็นที่เปิดขึ้นมาจะนำไปสู่คดีใหม่กับ สส. 44คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ รวมถึงเรื่องมารยาททางการทูตก็ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องเติมเข้ามา เพราะไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย

ข้อกังวลประการแรกคือ ว่าด้วยเขตอำนาจและกระบวนการ ซึ่งผลของคำวินิจฉัยหลังจากนี้เท่ากับว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถเลือกใช้ มาตรา 92 หรือ 93 ก็ได้ โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว 

ส่วนคำวินิจฉัยที่ได้ฟังว่า “หากปล่อยให้ทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินการล้มล้าง” เท่ากับว่าขณะนี้ยังไม่ล้มล้าง จึงทำให้อำนาจศาลในการยุบพรรคขยายขึ้นมา

นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยยุบพรรค มีความแตกต่างไปจากคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ตรงที่คำสั่งให้ยุติการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.ปริญญามีความเห็นว่า นั่นหมายความว่าหากเป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ย่อมสามารถทำได้ แต่คำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลนี้ระบุว่า ผู้ถูกร้องที่ประสงค์แก้ไข ม.112 นี้ มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด จึงเท่ากับว่าแม้เป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ก็แก้ ม.112 ไม่ได้

เจาะลึกคำวินิจฉัย ยุบพรรคก้าวไกล กับบรรทัดฐานใหม่

ส่วนนี้จึงเท่ากับว่าได้มีการขยายการตีความเรื่องการแก้ไข ม.112 ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าห้ามแก้ไข ต่างกับเรื่องระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐที่จะแก้ไขไม่ได้ 

ประการสุดท้ายคือ การที่ศาลระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ มีทั้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จะไม่มีข้อความว่า "หากมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ แต่จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งให้ยุบพรรคได้"

ซึ่งในความเห็นมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่สุด เพราะได้มีการขยายอำนาจที่ตีความได้มากกว่าการที่ตัวอักษรให้อำนาจไว้ว่า แม้ไม่ได้เขียนไว้ก็มีอำนาจหรือไม่ ซึ่งไม่ว่าท่านจะมีเจตนาอย่างไร แต่ผลที่ตามมาคือศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจมากขึ้น แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้เช่นนั้นหรือไม่

ต่อคำถามว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร จะหมายรวมถึงคดีที่มีผู้ร้อง 44 สส. ก้าวไกลร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมาย ม.112 ด้วยหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่า ขึ้นอยู่กับศาลฎีกาฯ เพราะเป็นคนละคดี และคนละศาลกัน ที่ว่าผูกพันธ์ทุกองค์กรคือผลของคำวินิจฉัย ที่ว่ายุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร แต่เหตุผลของการวินิจฉัยไม่ถึงขนาดต้องผูกพันธ์กันไปทั้งหมด ซึ่งคดีนี้หากป.ป.ช.เห็นว่ามีมูล และส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกา หากถูกตัดสินว่าผิดวินัยร้ายแรง จะมีโทษสูงถึงตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

รายชื่อ สส. ก้าวไกล 44 คน ร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้ายว่าคนจะรอตามดูว่าพรรคใหม่ของก้าวไกลจะชื่อว่าอะไร และทั้ง 143 สส.เหลืออยู่จะย้ายไปเข้าพรรคใหม่ทั้งหมดหรือไม่ ครั้งนี้จะมีงูเห่าจำนวนเท่าไหร่ และความรู้สึกของคนจะคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์ยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้

คะแนนนิยมของพรรคใหม่จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้จากการเลือกตั้งในครั้งหน้า ส่วนพรรคเพื่อไทยเอง ก็ต้องเร่งสร้างผลงานให้เข้าตา โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยในขณะนี้ก็ถือว่ามีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าวันที่ 14 สิงหาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะอยู่หรือไปก็ตาม เพราะพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องรวมกับพรรคภูมิใจไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นได้จากการขอโควต้ารองประธานสภาคนที่ 1 มาเป็นของพรรคภูมิใจไทย และความสำเร็จของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา