2 นักรัฐศาสตร์ รั้วจุฬาฯ มองเบื้องหลัง แถลงการณ์ชาติตะวันตก ยุบพรรคก้าวไกล

12 ส.ค. 2567 | 02:00 น.

2 นักรัฐศาสตร์ จากรั้วจุฬาฯ แสดงทัศนะต่อ แถลงการณ์ชาติตะวันตก กรณี ยุบพรรคก้าวไกล ล้ำเส้น-คาบเส้น หรือแค่แสดงจุดยืน เห็นพ้อง กู้ภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยกลับคืน

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญประเทศไทยอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล แถลงการณ์จากโลกตะวันตกแสดงออกถึงคำตัดสินที่ค้านสายตาดังข้ามทวีปทันควัน

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์ 2 นักรัฐศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อท่าทีของสายตานักการทูตประเทศซีกเสรีนิยมประชาธิปไตย

แม้จะออกมา 2 มุมมอง แต่สิ่งที่มองตรงกัน คือ การกู้ภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่คนละวิธีการ-คนละแนวทางเท่านั้น 

แสดงจุดยืน ไม่แทรกแซง-ไม่ล้ำเส้น   

“ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองแถลงการณ์ดังกล่าวว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีปฏิกิริยากับประเทศไทยประเทศเดียว ในประเทศที่ให้ความสนใจก็อาจจะมีการแสดงความกังวลแบบนี้ออกมาได้ 

ประเทศไทยเคยอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่จะเป็นประชาธิปไตยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 (ใช้รัฐธรรมนูญปี 40) แต่การรัฐประหาร 2 ครั้งติดต่อกัน (19 กันยายน 49 และ 22 พฤษภาคม 57) ทำให้ต่างชาติเริ่มให้ความสนใจ 

ในช่วงรัฐบาลทหาร คสช. ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะไม่ทำการค้ากับไทย เลือกที่จะแซงชั่น เลือกที่จะแบนสินค้า ดังนั้นประเด็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในความสนใจของต่างประเทศอยู่แล้ว 

เลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ชนะเป็นที่หนึ่ง แต่จัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคเพื่อไทยก็กระตุ้นความสนใจอีก เลือกตั้ง 66 ในสายตานักการทูตประจำประเทศไทยให้ความสนใจสูง การใช้การทูตเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยก็เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ

การแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นธรรมชาติหรือไม่ ไม่อยากให้ใช้คำนี้ เพราะสะท้อนว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลและนักวิชาการก็ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็น ซึ่งทำให้กระตุ้นความสนใจของทูตเหล่านี้ และทูตเหล่านี้ก็รายงานกลับไปประเทศของตน 

“ถ้าถามว่า ถึงกับเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ไม่ได้แทรกแซง ไม่ได้มาถึงกับกดดัน บีบคั้น แต่เป็นการแสดงจุดยืนที่คิดว่า ยังไม่ถึงกับล้ำเส้นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

ประกอบการการไม่ได้ถอนความร่วมมือ เป็นการแสดงออกถึงจุดยืนความเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทย มีกระบวนการยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกับประเทศเหล่านั้น

หลังจากนี้ในทางการทูตคงไม่มีการทำอะไรที่ “ล้ำเส้นมารยาท” ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่จะเลยไปจนถึงการถอนความร่วมมือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถอนการร่วมรบหรือไม่ ไม่เกิดขึ้นแน่นอน

แก้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง-เลิกยุบพรรค 

“อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง” ไขข้อสงสัย หลังจากปรากฎการณ์ยุบพรรคก้าวไกล ประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหนบนเวทีประชาคมโลก ถอยหลังหรือ หยุดอยู่กับที่  

ดีขึ้นกว่า รัฐบาลคสช. รัฐบาลภายใต้พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังเป็นแค่ “ประชาธิปไตยมินิมอล” ประชาธิปไตยพื้นฐาน การ “ยุบพรรคไปสั่นคลอนประชาธิปไตย” ที่ยังไม่ตั้งไข่ให้อ่อนระโหยโรยราลง 

หน้าที่สำคัญหนึ่งของพรรคการเมือง คือ การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐ และผู้ปกครอง การยุบพรรคไปทำลายความเชื่อมโยงตรงนี้ ไปทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมือง ในการแสดงออกทางการเมืองเปราะบางขึ้น การยุบพรรคทำให้ประชาธิปไตยที่เปราะบางอยู่แล้ว อ่อนล้ามากขึ้น 

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี 60 และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่เปิดให้การยุบพรรคทำได้โดยง่าย ควรจะต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญและแก้พ.ร.บ.พรรคการเมือง ให้การยุบพรรคมันทำได้เฉพาะกรณีใช้ความรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตยจริงๆ

“ศ.ดร.สิริพรรณ” ถอดบทเรียนการยุบพรรคซ้ำซาก ว่า การถอดบทเรียนที่ง่ายที่สุดและตรงไปตรงมาที่สุด คือ การทำให้การยุบพรรคไม่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติจนประชาชนชาชิน ต้องทำให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่เป็นทิศทางของการพัฒนาประชาธิปไตย 

“ไม่มีพรรคไหนได้ประโยชน์จากการยุบพรรค”

กดดัน-หมิ่นเหม่-คาบเส้น 

ขณะที่ “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” คณะรัฐศาสตร์ จาก “รั้วเดียวกัน” มองปรากฎการณ์เดียวกันว่า ประการแรก เป็นการเพิ่มแรงกดดันในทางการเมืองต่อทิศทางทางการเมืองที่จะรองรับผลประโยชน์ของประเทศเหล่านี้

การเพิ่มแรงกดดันก็เป็นเรื่องที่ทำกันอยู่ แต่จะข้ามเส้นไปเป็นการแทรกแซงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเด็นที่สอง คือ วิธีการ 

การเพิ่มแรงกดดันก็เห็นอยู่ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในประเทศที่ตั้งรับ ไม่ได้มีการดำเนินการเชิงรุก เพื่อที่จะลดแรงกดดันเหล่านี้ ก็จะเห็นชัดขึ้นและทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจของคนหลายกลุ่มที่มองว่าเป็นการแทรกแซง 

“แต่เนื้อแท้คือการกดดัน ประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่จะรองรับประโยชน์แห่งชาติของประเทศนั้น ๆ และผลโยชน์ส่วนตัวในบางกรณี เช่น งบประมาณ บทบาทหลังเกษียณและลงจากตำแหน่ง” 

การเพิ่มแรงกดดันทำกันเป็นปกติ แต่ถ้าเลยเถิดไป ข้ามเส้นไป ข้ามข้อตกลงทางการทูต ระเบียบวิธีการทางการทูต มารยาททางการทูต บางครั้งหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ขึ้นอยู่กับว่า คาบเส้นหรือไม่”

ประเด็นที่สอง ข้ามเส้นหรือไม่ ถ้ามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นธรรมดา เช่น มีการเชิญไปพูดคุยก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการเชิญไปคุยที่สถานทูต พรรคการเมือง หรือสถานที่กลาง ๆ หรือเชิญกลุ่มหนึ่งไป แต่ไม่เชิญอีกกลุ่มไป มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป 

“สมัยรัฐบาลหนึ่งในอดีตมีการประท้วงบางสถานทูตว่า ได้เชิญฝ่ายตรงข้ามมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งงานเลี้ยง งานประจำชาติ ในที่สุดก็มีการปรับลิสต์ เชิญคนไปให้พอ ๆ กัน เคยมีการประท้วงเป็นการภายในก็เยอะ ถึงขั้นแรงกดดันว่าถอนกำลังเฝ้าสถานทูตก็เคยทำมาแล้วเงียบ ๆ แต่ไม่ถึงขั้นเปิดโปงผลประโยชน์ส่วนตัว”

ทั้งนี้ หลายประเทศมีกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงชัดเจนขึ้น เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย

กู้ภาพลักษณ์-ลดความเสียหายประเทศ

“อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” บอกว่า การแถลงการณ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ แถลงต่อรัฐบาล กระทรวงต่างประเทศจึงต้องโต้ตอบกลับ ซึ่งการพาดพิง การทำจดหมายเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการแทรกแซง 

กรณีอาเซียน กลุ่มสิทธิมนุษยชน และยูเอ็น พาดพิงกระบวนการยุติธรรมของไทยก็ถือว่าหมิ่นเหม่ หรือกดดัน แรงหน่อยก็แทรกแซง และเริ่มมีการพาดพิงระบุไปถึง กกต. หน่วยงานที่โดนพาดพิงก็ต้องออกมาชี้แจงอย่างแข็งขัน 

การเดินหน้าเชิงรุกของรัฐบาลยังน้อย โฆษกรัฐบาล ฝ่ายการต่างประเทศต้องเป็นหลักกลาง ต้องส่งคนเข้าไปชี้แจง โฆษกต้องเดินสายพูด มีวงพูดกันเป็นการภายใน จะทำอย่างไรให้แสดงความกังวลอยู่ในกรอบ ไม่กระทบทางบกและทางลบ ต้องเป็นฝ่ายห้ามทัพ

“ผลเสียจะตกกับประเทศไทย การค้าการลงทุนระยะกลางและระยะยาว ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ การกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องหารือกันหลายฝ่าย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม”

ส่วนจะกระทบกับการค้าขายการค้าการลงทุนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกำไรขาดทุนเป็นหลัก วัดยากมาก แต่การกระทบภาพลักษณ์ของประเทศเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ 

“ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยได้รับผลกระทบ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีและสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ขัดกับผลประโยชน์ของชาติ”