ประธานสภาอุตฯ ห่วงยุบก้าวไกล-ตัดสินคดีนายกฯเศรษฐา กระทบต่างชาติชะลอลงทุน

07 ส.ค. 2567 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 13:39 น.

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯห่วงตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ต่อเนื่องตัดสินคดีนายกฯเศรษฐา กระทบเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ ระบุช่วงนี้ Wait @ See ชาติยุโรป อเมริกาอ่อนไหวการเมืองสูง กังวลอาจตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่น

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญ (วันที่ 7 ส.ค. 2567) มีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคก้าวไกล จำนวน 11 คน เป็นระยะเวลา 10 ปี กรณีมีเหตุอันเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติยุบพรรคก้าวไกลในวันนี้ คนส่วนใหญ่ก็พอทราบข่าวกันมาระยะใหญ่ รวมถึงมีข่าวความเคลื่อนไหวการไปทาบทาม สส.ของพรรคก้าวไกลของบางพรรคก็มีการพูดถึงและได้ยินเรื่องนี้มาโดยตลอด สำหรับผลการตัดสินที่ออกมาก็ตรงตามกับที่เป็นข่าวทุกประการ ส่วนเรื่องผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่จะตามมายังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่ากระทบมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าภาคเอกชนต้องการการเมืองที่นิ่ง หรือค่อนข้างนิ่ง ไม่มีความขัดแย้งหรือไม่มีปัญหา ซึ่งกรณีการยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมั่นเช่นกัน มากน้อยประการใดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่มองแตกต่างกัน สำหรับคนไทยรับรู้เรื่องการยุบพรรคการเมือง รวมถึงการตัดสิทธิอะไรต่าง ๆ มาหลายครั้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่

“แต่จะมีอีกฟากหนึ่งคือนักลงทุนต่างประเทศ ที่มาจากหลายชาติ จากหลายบริษัท ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบาย หรือให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศที่จะไปลงทุนที่แตกต่างกัน หากเป็นค่ายที่มาจากชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป (อียู) ค่อนข้างให้น้ำหนักเรื่องการเมืองเป็นสัดส่วนที่มากต่อการตัดสินใจในการลงทุน”

ประธานสภาอุตฯ ห่วงยุบก้าวไกล-ตัดสินคดีนายกฯเศรษฐา กระทบต่างชาติชะลอลงทุน

ส่วนประเทศชาติตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ที่เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทยมาเป็นเวลา 40-50 ปี ค่อนข้างมีประสบการณ์ และมีความเคยชินต่อการเมืองของไทย และอาจจะมีความเข้าใจโครงสร้างของไทยมากกว่าประเทศอื่น ซึ่งน้ำหนักในการให้คะแนนที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนที่มาจากสถานการณ์ทางการเมืองจึงขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เรื่องนี้คงต้องติดตามต่อไป ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน

นายเกรียงไกร ยังให้ความเห็นต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยตัดสินคดีนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในคดีข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมแต่งตั้งรัฐมนตรี ในวันที่14 สิงหาคมนี้ ว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่มีคดีสำคัญ ๆ ทางด้านการเมืองหลายคดีซึ่งล้วนเป็นคดีใหญ่ ๆ และมีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา  ทวีสิน เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศยังไม่ถึง 1 ปี และเพิ่งจะเริ่มเข้าฝัก จากช่วงแรกยังต้องเรียนเรียนรู้ ผ่านไปหลายเดือนก็เริ่มจับทางถูก และเริ่มออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุนร่วมกับบีโอไอ โดยสวมบทบาทเป็นเซลล์แมนประเทศ ผลงานเริ่มปรากฎผลที่เป็นรูปธรรม โดยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ในหลายอุตสาหกรรม หรือในหลายธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ก็ได้ไปพบกับซีอีโอ เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในไทยแข่งกับหลายประเทศ เวลานี้มีหลายบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และที่กำลังอยู่ระหว่างไปคุย หรือกำลังตัดสินใจก็มีมาก

“เหล่านี้คือความเสี่ยงจากการเมืองของไทย เพราะว่าเขาอาจจะตกใจ หากมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ ที่รัฐบาลไปเชิญชวนและรับปากไว้ เขาอาจมีความกังวลว่านโยบายจะเปลี่ยนหรือไม่ และอาจส่งผลกระทบแผนที่วางไว้อาจจะเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หรืออาจตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่นแทน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเวลานี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง Wait & See เพื่อดูทิศทางการเมืองไทย ซึ่งเราไม่อยากเห็นลักษณะการเปลี่ยนม้ากลางศึกและต้องมาแนะนำนายกฯคนใหม่ หรืออะไรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เสียเวลา เสียโอกาสไปโดยไม่จำเป็น  เพราะประเทศไทยเราเสียเวลา เสียโอกาสมามากแล้ว” นายเกรียงไกร กล่าว