เดือนสิงหาคม 2567 มี 3 คดีใหญ่ทางการเมือง ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อทิศทางการเมืองไทย ประกอบด้วย คดีพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองและเข้าลักษณะกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคก้าวไกล ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 11 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
คดีใหญ่ถัดไป ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยกรณีสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทุกฝ่ายลุ้นระทึกว่าจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่
ทั้งนี้ท้ายที่สุดผลของคดีนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยว่าความ เป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม จะไม่ทำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่รัฐมนตรีที่เหลือยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ และตั้ง ครม. ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่
ขณะที่ในวันที่ 19 สิงหาคม ศาลอาญานัดไต่สวนพยานหลักฐาน คดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยถูกอดีตอัยการสูงสุด สั่งฟ้องในความผิดข้อหามาตรา 112 เมื่อปี 2558 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 3 คดีจะสร้างแรงกระเพื่อมและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความเชื่อมั่นจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศที่ถาโถมเข้ามา ณ เวลานี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยถึงความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯเศรษฐา ทวีสินในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทั้งนี้หากมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลง จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากชาติตะวันตก เช่น อเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) ที่มีความอ่อนไหวต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศที่ไปลงทุน อาจเลื่อนแผนออกไปไม่มีกำหนด หรืออาจตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่น เพราะไม่มั่นใจว่า หากมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หรือ ครม.ชุดใหม่ นโยบายที่เคยประกาศไว้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
“ที่ผ่านมานายกฯเศรษฐาได้สวมบทเซลล์แมนออกไปโรดโชว์ร่วมกับบีโอไอ ในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ไปพบกับซีอีโอของบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อดึงการลงทุนแข่งกับประเทศอื่น ในธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หากมีการเปลี่ยนผู้นำ ในลักษณะ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ในช่วงนี้ อาจส่งผลให้รายที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะมาลงทุนในไทย อาจปรับแผนไปลงทุนประเทศอื่น เพราะไม่มั่นใจว่าที่ไปรับปากเขาไว้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ทำให้อาจต้องมาเริ่มอะไรทุกอย่างใหม่ มานั่งแนะนำนายกฯคนใหม่ และอะไรต่าง ๆ ใหม่ ซึ่งจะทำให้เสียเวลา และโอกาสไปโดยไม่จำเป็น”
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งกรณีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล คดีนายกฯ เศรษฐา และคดีนายทักษิณ ชินวัตร โดยมองว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
“ผู้ประกอบรายย่อยมีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น และการหยุดชะงักของมาตรการภาครัฐในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี”
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูงในมุมของภาคธุรกิจ มองว่า ทุกอุตสาหกรรมอยู่มาในยุคของความเปลี่ยนแปลง การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญของภาคธุรกิจ เพื่อการรับมือกับทุกความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน สถานการณ์ภายในประเทศปัจจุบันยังคงทรงตัว กำลังซื้อในกลุ่มบนยังไม่หายไป และนักท่องเที่ยวยังคงทะลักเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง สุดท้ายในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนการวางแผนเตรียมพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะที่ นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า สถานการณ์การเมืองอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยแต่มองว่าเป็นช่วงระยะสั้น โดยประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลมองว่าเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้วและไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะคดีของนายกรัฐมนตรี วันที่14 สิงหาคมนี้ กรณีศาลตัดสินเป็นคุณและสามารถบริหารประเทศต่อไป มองว่าเศรษฐกิจประเทศจะคงทรงตัว ซึ่งต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง
ส่วนกรณีหากนายกฯ ถูกตัดสินว่าผิดต้องหลุดออกจากตำแหน่ง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะสั้น นโยบายโดยตรงของนายกรัฐมนตรีอาจมีอันยุติลง แต่นโยบายที่มาจากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงมากที่สุดในพรรคร่วมรัฐบาลจะขับเคลื่อนต่อได้ เพียงแต่ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มองว่าหากมาจากพรรคอันดับ 2 การบริหารประเทศจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากข้ามไปพรรคอันดับ 3 และ 4 มองว่า เศรษฐกิจประเทศอาจได้รับผลกระทบเพราะต้องปรับนโยบายใหม่
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4017 วันที่ 11 -14 สิงหาคม พ.ศ. 2567