เปิดเหตุผล “แพทองธาร ชินวัตร” ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”

16 ส.ค. 2567 | 11:56 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 12:32 น.

เปิดเหตุผล แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมง ผ่านด่านโหวต นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาในยุคคสช.

พรรคเพื่อไทยใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง “ปิดเกม” ลงมติเลือก “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นแท่น “นายกรัฐมนตรี คนที่ 31” ชนิดม้วนเดียวจบ

เปิดเหตุผล “แพทองธาร ชินวัตร” ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”

แม้ในช่วงแรกของชูชื่อ “แพทองธาร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน หรือ “อดีตพรรคก้าวไกล” จะงัดกลยุทธ “ดีเลย์แทคติก” ขออภิปรายคุณสมบัติ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31” 20 นาที

ทว่าตั้งแต่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎรกดปุ่มสัญญาณเรียกประชุมในเวลา 10.01 น. จนกระทั่งรู้ผลการลงมติในเวลา 12.35 น. เพียง 2 ชั่วโมงครึ่งก็ได้ชื่อ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”

การลงมติเลือก “แพทองธาร” เป็นบุคคลได้รับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยได้เสียง สส.เห็นด้วย 319 เสียง ไม่เห็นด้วย 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง โดยไม่มี “เสียงสว.” มาร่วมโหวตในครั้งนี้ด้วย

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ใน “บทเฉพาะกาล” มาตรา 272 กำหนดให้ 5 ปีแรกของการมี “รัฐสภาชุดแรก” หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เปิดทางให้ สว.เข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 หรือ “ฉบับประชามติ” ที่ร่างขึ้นมาในยุครัฐบาลคสช. กำหนดให้มี “คำถามเพิ่มเติม” หรือ “คำถามพ่วง” ที่ว่า 

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”  

เป็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มี “บทเฉพาะกาล” มาตรา 272 กำหนด สว.250 เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี 5 ปีแรก 

ที่ผ่านมาการเลือกนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 วรรคสาม

ต้องได้คะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” เท่าที่มาอยู่ของทั้ง “สองสภา” (สส.200 คน + สว.250 คน รวม 750 คน) จึงต้องผ่านมือ สว.ในการร่วม-เลือกนายกรัฐมนตรี 3 คน ทำให้บางคนต้องผิดหวัง-สมหวัง 

  • คนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 เริ่มประชุมเวลา 11.05 น. และเลิกประชุมเวลา 23.52 น. 

โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนน เห็นชอบ 500 คะแนน ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “คู่แข่ง” จากพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนน 244 คะแนน

  • คนที่สอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่หนึ่ง สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม 2566 “ไม่เห็นชอบ” เริ่มประชุมเวลา 09.30 น. และเลิกประชุมเวลา 18.25 น. 

นอกจากนี้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีการประชุมอีกครั้ง เมื่อวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 โดยเริ่มการประชุมเวลา 09.30 น. และเลิกประชุมเวลา 17.09 น.

เปิดเหตุผล “แพทองธาร ชินวัตร” ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”

โดยนายสุทิน คลังแสง เสนอชื่อนายพิธาให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายวันนอร์มูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา อาศัยข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 151 ขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยตีความข้อบังคับ ข้อ 41 ว่า

การเสนอชื่อ “บุคคลเดิม” เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อฯ 41 หรือไม่

ผลการลงมติ ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีกในสมัยประชุมนี้

  • คนที่สาม นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 เห็นชอบ เริ่มประชุมเวลา 10.00 น. และเลิกประชุมเวลา 17.40 น. 

เปิดเหตุผล “แพทองธาร ชินวัตร” ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”

การเลือกนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คนที่ผ่านมาตลอด 5 ปี นอกจากจะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มี “สว.250” ตามบทเฉพาะกาลร่วมลงคะแนนด้วยแล้ว

ยังเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ “เปิดช่อง” ให้สามารถเลือก “นายกฯคนนอก” ได้อีกด้วย