มติครม. อนุมัติตั้ง “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” ผงาดนั่งอธิบดีดีเอสไอคนที่ 13

01 ต.ค. 2567 | 05:34 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 05:53 น.

มติครม. ล่าสุดวันนี้ 1 ต.ค. 67 อนุมัติแต่งตั้ง “พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ” นั่งเป็น "อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ" คนใหม่ พร้อมเปิดประวัติเส้นทางชีวิตจากนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 49 สู่อธิบดีดีเอสไอคนที่ 13

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุดวันนี้ 1 ต.ค. 67 อนุมัติแต่งตั้ง “พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ” เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) คนใหม่ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ 

พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ต.ยุทธนา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ อาวุโสสูงสุด อันดับ 1 ได้ทำหน้าที่รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงตามมติครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66 ในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี  

ประวัติพันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ

พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ ลูกหม้ออีกคนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่โตมาตามสายงานจนขึ้นมาเป็นอธิบดีดีเอสไอคนใหม่ เป็นนายตำรวจที่มีประสบการณ์การทำงานอันโดดเด่นและหลากหลาย 

พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ

โดยเริ่มต้นชีวิตในวงการตำรวจตั้งแต่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 49 ในปี 2539 ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง ได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาโทสาขาบริหารงานยุติธรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้รับปริญญาตรีทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกด้วย

ตลอดเส้นทางอาชีพกว่า 25 ปี พันตำรวจตรียุทธนาได้ผ่านงานสำคัญมากมาย เริ่มจากการเป็นรองสารวัตรที่กองปราบปราม และถูกโอนย้ายจากข้าราชการตำรวจมารับราชการที่ดีเอสไอ ตั้งแต่ยุคก่อตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี 2547

จากนั้นได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคดีภาษีอากร และผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี 2564

ตลอดการทำงาน พันตำรวจตรียุทธนาได้รับการยกย่องในด้านการสืบสวนสอบสวน โดยเคยได้รับโล่เกียรติคุณผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านงานสอบสวนจากกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(แฟ้มภาพ Nation Photo) พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ ในฐานะรักษาการอธิบดีดีเอสไอ นำแถลงความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้นสตาร์ค เมื่อ  10 ก.ค. 67

นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการสืบสวนคดีใหญ่ระดับประเทศหลายคดี อาทิ คดีปล้นปืนหน่วยทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. และ กปปส. รวมถึงคดีทุจริตและฟอกเงินที่มีมูลค่าความเสียหายมหาศาล เช่น คดีคลองด่าน คดีโกงหุ้นสตาร์ค (STARK) หมื่นล้านบาท คดีปั่นหุ้นมอร์ (MORE)  และยังเป็นผู้ดูแลคดีหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย

ด้วยประสบการณ์อันกว้างขวางและผลงานที่โดดเด่น พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ จึงเป็นกำลังสำคัญของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการอำนวยความยุติธรรมและปราบปรามอาชญากรรมซับซ้อนของประเทศ

(แฟ้มภาพ Nation Photo) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางไปศาลอาญาเพื่อฟังคำสั่งขอออกหมายจับ 43 แกนนำ กปปส. เมื่อ 14 พ.ค. 2557

 

ย้อนรอยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 มีอธิบดีมาแล้วดังนี้

  1. พลตำรวจโท นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ (21 ตุลาคม 2545 – 23 กันยายน 2546)
  2. พลตำรวจเอก สมบัติ อมรวิวัฒน์ (7 กุมภาพันธ์ 2547 – 9 มกราคม 2550)
  3. นายสุนัย มโนมัยอุดม  (16 มกราคม 2550 – 25 กุมภาพันธ์ 2551)
  4. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง (11 เมษายน 2551 – 29 กันยายน 2552)
  5. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ (29 กันยายน  – 19 ตุลาคม 2552 (รักษาการ) ) 19 ตุลาคม 2552 – 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
  6. พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (24 พฤษภาคม 2557 – 27 มิถุนายน 2557 (รักษาการ) ) 27 มิถุนายน 2557 – 30 กันยายน 2557
  7. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ (15 ตุลาคม 2557 – 17 พฤศจิกายน 2557 (รักษาการ) ) 17 พฤศจิกายน 2557 – 27 ตุลาคม 2558
  8. นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ (1 ตุลาคม 2558 – 19 ตุลาคม 2558 (รักษาการ) ) 
  9. พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง (20 ตุลาคม 2558 – 4 พฤศจิกายน  2558 (รักษาการ) ) 5 พฤศจิกายน 2558 – 2 เมษายน  2563
  10. พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร (15 มิถุนายน 2563 – 30 กันยายน 2564)
  11. นายแพทย์ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ (1 ตุลาคม 2564 - 17 มกราคม พ.ศ. 2566)
  12. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล (18 มกราคม  2566 – 28 พ.ย. 2566)