KEY
POINTS
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นนโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” และนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย รวมถึงเป็นนโยบายสำคัญของฝ่ายค้านค่ายสีส้ม อย่าง “พรรคประชาชน” ดูท่าจะดำเนินการแก้ไขไม่ทันใช้สำหรับกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2570
ภาคประชาชนจี้เร่งแก้รธน.
ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 มีความเคลื่อนไหวจาก เครือข่ายภาคประชาชน ในนามกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All) เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยมี นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับแทน
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน เหลือเวลาดำรงตำแหน่งในวาระอีกเพียง 2 ปี 8 เดือนเท่านั้น หากกระบวนการนี้ เนิ่นช้าไป และไม่ได้เริ่ม ก็กลัวว่าจะไม่เสร็จในรัฐสภาชุดนี้ หรือกลัวว่าจะไม่เสร็จเลย
“เราจึงมาติดตามสถานการณ์ เพราะทราบอยู่ตลอดว่า พรรคเพื่อไทย โดยคณะรัฐมนตรีชุด นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ มีแนวทางที่ประกาศออกมาแล้วว่า จะมีกระบวนการไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ โดยการทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเรากำลังรอการเริ่มครั้งแรกอยู่ แต่ สว.ก็ยังไม่ให้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติผ่าน แต่กว่าจะรอ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ และกว่าจะได้ทำประชามติครั้งแรก แล้วค่อยเริ่มกระบวนการ ทั้งหมด ก็น่าจะชัวร์แล้วว่า จะไม่ทันภายในรัฐสภาชุดนี้ หรือภายในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย”
จึงขอเสนอและยืนยันว่า เราไม่ได้คัดค้านการทำประชามติครั้งแรก แต่ถ้าไทม์ไลน์เป็นเช่นนี้ ไม่ต้องทำจะดีกว่า เพราะในปัจจุบัน การทำประชามติครั้งแรก ไม่ได้มีกฎหมายฉบับบังคับให้ทำ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทำ
ดังนั้น เราควรจะเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ได้โดยการเปิดสภา เพื่อบรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อพิจารณาจัดตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วเดินหน้าต่อไป ซึ่งสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติก่อน เพราะนี่จะเป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ ที่จะทำให้มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในรัฐสภา และรัฐบาลชุดนี้
บางฝ่ายค้านแก้รัฐธรรมนูญ
ด้าน นายมุข กล่าวว่า ประธานสภาฯ เห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือ 1000% จะรีบบรรจุกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด เพราะรัฐสภาก็อยากให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนว่า หากอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างที่ทุกคนมีความประสงค์ ก็ต้องช่วยกันผลักดันทำให้สภาสูงและสภาล่างมีความเห็นเหมือนที่ประชาชนต้องการ เนื่องจากขณะนี้ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
ขณะที่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เหมือนเป็นการให้กำลังใจพวกเราในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ทั้งการแก้ทั้งฉบับ และการแก้ไขรายมาตรา ถือเป็นกฎหมายแรกที่ทางรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันตั้งแต่ต้น ยอมรับว่าขณะนี้มีอุปสรรค ทุกอย่างไม่ได้รวดเร็วเป็นไปตามที่เราหวังไว้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งให้คำมั่นสัญญาประชาชน ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจุดยืนของพรรคประชาชนในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เรายืนยันมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหา และเห็นด้วยว่าต้องมีการเดินคู่ขนานกัน
โดยหนทางที่หนึ่งซึ่งเราเห็นว่าดีที่สุดในการที่จะทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 คือ การต้องลดขั้นตอนทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง แต่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของประธานสภาฯ ว่าจะบรรจุวาระหรือไม่ ทั้งนี้ พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 7 แพ็กเก็จแล้ว
ต้นตอทำแก้รธน.ล่าช้า
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา(สว.) มีมติ 164 เสียงต่อ 21 เสียง พลิกมติสภาผู้แทนราษฏร (สส.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก แก้ไขมาตรา 13 กลับไปใช้หลักการ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” หรือ“Double Majority” สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาสำคัญในชั้น สว. เขียนเพิ่มจากเดิม ที่ผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎร ระบุเพียง “เสียงข้างมากธรรมดา” (Plurality หรือ Simple Majority) คือ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียง งดออกเสียง ในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ”
โดยให้เพิ่มเติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
ยืดเยื้ออย่างน้อย 180 วัน
สำหรับขั้นตอนต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 (3) ระบุไว้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ถ้า สว.มีการแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติมจาก สส. ให้ส่งร่างกฎหมายนั้นกลับมาเพื่อให้ที่ประชุม สส.เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
ขั้นตอนที่ 2 ถ้าที่ประชุมสภา สส.ไม่เห็นชอบ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อร่วมพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3 เสนอให้ที่ประชุมทั้ง 2 สภา ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน
ขั้นตอนที่ 4 หากพ้น 180 วัน สส.ยืนยันตามร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมสภา สส. ก็ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม 2 สภา
คาดหมายว่าตามขั้นตอนต่าง ๆ จะกินเวลาไปถึงประมาณ 5 เม.ย. 2568 ซึ่งพ้นเลือกตั้งนายก อบจ. และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.พ.68) ไปกว่า 2 เดือนแล้ว อันจะไม่สามารถทำประชามติพร้อมการเลือก อบจ. เพื่อประหยัดงบ 3,000 ล้านบาทได้
กระทบไทม์ไลน์ทำประชามติ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ชี้ว่าการที่วุฒิสภาให้ฟื้นเกณฑ์ “เสียงข้างมากสองชั้น” ถ้าเป็นแบบนี้ การออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ จากเดิมที่กำหนดให้ทำพร้อมกับการเลือก อบจ. ในเดือน ก.พ.ปี 68 ซึ่งไม่สามารถทำได้
ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ การหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ต้องคุยกันให้ชัดว่า การเดินต่อไป ควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เราจะทำเลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย
ตามแนวทางนี้จะทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้อง 3 ครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการ และใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ตนจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล ว่าควรจะเดินไปอย่างไร
นัดพรรคร่วมถกแก้รธน.
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงการนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพูดคุย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า คงจะนัดกันเร็วๆ นี้ คาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากที่เราได้ดูปัญหาที่เกิดขึ้น ตนก็จะสรุปรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องการทำประชามติ ซึ่งโยงกับรัฐธรรมนูญก็จะคุยไปพร้อมๆ กันว่าจะเดินกันอย่างไร
เมื่อถามว่าส่วนตัวได้มีการตั้งธงไว้หรือไม่ว่าจะมีประเด็นอะไรบ้างที่จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็คงต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีทางออกอย่างไร ตนก็จะเตรียมให้ และเอาทางออกเหล่านี้ไปหารือร่วมกัน
“อนุทิน”ยังไม่อยากคุยแก้รธน.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการนัดพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่มีการนัดหมาย และขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่อยู่ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ จึงยังไม่มีกำหนดว่าจะนัดพูดคุยกันเมื่อใด เพราะเรามีเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้พี่น้องประชาชน ซึ่งสำคัญกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เมื่อ สว.มีมติกลับมาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็ต้องดูขั้นตอนต่อไปว่ามีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพราะความเห็นของเรา และ สว.ไม่ตรงกัน
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เป็นโต้โผในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาตลอด 1 ปี แต่สุดท้ายเหมือนกลับมาเริ่มต้นใหม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องเข้าใจความแตกต่างของแต่ละหน่วยงานที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ตนคิดว่ามีแต่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น เมื่อถามว่ากรณีสว.กลับมาใช้มติเสียงข้างมาก 2 ชั้นส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อันนี้อย่าเพิ่งไปไกลอย่าเพิ่งสรุป
หวั่นรธน.ไม่ทันใช้เลือกตั้งปี 70
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีสว.ยืนยันแก้ไขกลับไปใช้การทำประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าการแก้ไขจะทำได้ไม่ทันการเลือกตั้งในปี 2570 เพราะถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จไม่ทัน สว.ไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งกมธ.ร่วม ทำให้กระบวนการพิจารณายืดเยื้อและต้องล่าช้าออกไป
“คิดว่ายังพอมีหนทางที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทันปี 2570 คือ หากจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาให้ความเห็นว่าทัน สอดคล้องกับความเห็นของพรรค ปชน.”
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องหารือกับฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อาจต้องทำภายในรัฐสภา รวมถึงหารือกับประธานรัฐสภาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรที่จะบรรจุร่างแก้ไข
... รัฐบาลเพื่อไทย เหลือวาระการบริหารประเทศอีกเพียง 2 ปี 8 เดือน โดยรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฏรจะหมดลงในวันที่ 14 พ.ค. 2570 ขณะที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ไปไหน
ดูแล้วการแก้รัฐธรรมนูญไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ ที่เคยคิดว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า เห็นทีจะเป็นไปได้ยาก...