นิติสงครามพรั่งพรูโค่นอำนาจ“ทักษิณ-อิ๊งค์-เพื่อไทย”

12 ต.ค. 2567 | 00:30 น.

นิติสงครามพรั่งพรูโค่นอำนาจ“ทักษิณ-อิ๊งค์-เพื่อไทย” : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกจ ฉบับ 4035 ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2567

KEY

POINTS

 

  • “ธีรยุทธ”รับหารือเลขาฯ พลังประชารัฐ ก่อนยื่นศาลรธน.สอย “ทักษิณ-เพื่อไทย” ด้วย 6 พฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ 
  • คน“เพื่อไทย”ดาหน้าปัด“ทักษิณ”ครอบงำพรรค ประกาศไม่หนักใจ “พร้อมพงศ์”เอาคืนยื่นป.ป.ช.สอบฟัน“บิ๊กป้อม” 
  • ทั้ง พลังประชารัฐ และ เพื่อไทย ต่างงัดนิติสงครามขึ้นมาห้ำหั่นกัน ส่วนใครจะ รอด หรือ ร่วง ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และ ป.ป.ช. จะเป็นผู้ให้คำตอบ
     

ภายหลัง “พรรคพลังประชารัฐ” ของ ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูก “พรรคเพื่อไทย” ตัดเยื่อใยขับออกจากการร่วมรัฐบาล ที่มี อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เลือกที่จะเอาเฉพาะ สส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าร่วมรัฐบาล

ปฏิบัติการ “ล้างแค้น” ด้วยการงัด “นิติสงคราม” ขึ้นมาเป็นยุทธวิธีในการโค่นล้ม ก็พรั่งพรู เข้าใส่ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย อย่างไม่ขาดสาย 

ยื่นศาลรธน.สอยทักษิณ-พท. 

ล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 10 ต.ค. 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ ได้หอบเอกสารเข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสั่งให้ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย(พท.) เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

นายธีรยุทธ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด แต่เมื่อครบกำหนด 15 วัน คือวันที่ 9 ต.ค. 2567 อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงใช้สิทธิในฐานะประชาชน มายื่นคำร้องตรงต่อศาลฯ โดยมี 6 พฤติการณ์ที่เข้าข่ายคือ 

1. หลังนายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี พบว่า นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ  

2.นายทักษิณ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของไทย 

3.นายทักษิณ สั่งให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

อ้าง“ทักษิณ”ครอบงำ พท.

4.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำเป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลฯ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง

5.นายทักษิณ มีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง  

6.นายทักษิณ มีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำนโยบายที่ นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 

ขอให้เลิก 8 พฤติการณ์

ทั้ง 6 พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ตามที่ศาลฯ ได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในหลายคำวินิจฉัย อาทิ คำวินิจฉัยสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการกระทำ และยุบพรรคก้าวไกล 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุความเสียหายร้ายแรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลฯ วินิจฉัยสั่งการรวม 8 ข้อ คือ ให้นายทักษิณ เลิกใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เลิกสั่งการดำเนินการของพรรคเพื่อไทย 

เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน เลิกใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และ ให้พรรคเพื่อไทย เลิกยินยอมให้นายทักษิณ ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว 

“ขณะนี้ยังไม่ได้หวังผลไปถึงขั้นยุบพรรค เพียงแต่คาดหวังให้ศาลฯ สั่งการให้ นายทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ยุติการกระทำ”

“ธีรยุทธ”ปัดรับใบสั่ง พปชร.

นายธีรยุทธ ปฏิเสธว่า การยื่นคำร้องในครั้งนี้ไม่ได้มีใครสั่งการ หรือรับงานใครมา แม้กระทั่ง พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อน แต่ยอมรับว่า ได้ไปขอคำปรึกษาจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร.  

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาระบุว่า วันที่ 10 ต.ค. จะเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลอาจถึงขั้นล่มสลาย กระทั่งเวลา 07.00 น.ของเช้าวันที่ 10 ต.ค. นายไพบูลย์ ก็ได้แจ้งหมายข่าวแก่สื่อมวลชนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า นายธีรยุทธ จะไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในเวลา 10.30 น. 

หลัง นายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อศาลฯ แล้ว นายไพบูลย์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่า การที่ นายธีรยุทธ ไปร้องครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคพปชร. และพรรคไม่ได้อยู่เบื้องหลัง นายธีรยุทธ เป็นทนายอิสระ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหน เขายื่นในฐานะประชาชน

“แต่ผมพอทราบว่าเขาจะทำเรื่องนี้ จึงเปิดประเด็นเพื่อให้สื่อได้ติดตาม”  นายไพบูลย์ กล่าวและว่า ส่วนตัวมองว่ามีความครบถ้วน มีข้อเท็จจริง มีหลักฐาน 

                     นิติสงครามพรั่งพรูโค่นอำนาจ“ทักษิณ-อิ๊งค์-เพื่อไทย”

“เพื่อไทย”ลั่นไม่หนักใจ 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม แกนนำพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีทีมกฎหมายเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้หนักใจอะไร

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า ตนเป็นประธาน สส. และประธานวิปรัฐบาล ไม่เคยเห็น นายทักษิณ สั่งการใดๆ ภายในพรรค และไม่เคยได้รับคำสั่งให้ดำเนินการใดๆ

"เรื่องนี้ผมไม่กังวล ตามข้อกล่าวหาที่มีการล้มล้างการปกครอง เพราะพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ไม่มีแนวคิดการล้มล้างการปกครองฯ และ สส.พรรคเพื่อไทย ก็มีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีเรื่องการล้มล้างแน่นอน" นายวิสุทธิ์ กล่าว

“อิ๊งค์”เจอยื่นสอบจริยธรรมอีก

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า การแต่งตั้ง นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษานายกฯ จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร นายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ นายเรืองไกร ได้อ้างพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจาก นายสุรพงษ์  เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว และ นายณัฐวุฒิ เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้วเช่นกัน 

“หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต. รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว”

พท.ยื่นปปช.ฟัน"บิ๊กป้อม"  

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้เข้ายื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ให้ตรวจสอบพฤติกรรมการเดินทางไปต่างประเทศของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเดือน มี.ค. 3 วัน มิ.ย. 3 วัน ก.ค.และ ส.ค.อีกเดือนละ 2 วัน รวมทั้งหมด 8 วัน ซึ่งมีข้อมูลและหลักฐานพบว่า พล.อ.ประวิตร น่าจะกินหรู อยู่สบาย และน่าจะเข้าข่ายการรับทรัพย์เกินกว่า 3,000 บาท 

“พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 กำหนด มิให้เจ้าพนักงานรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันใครได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่โดยอาศัยกฎหมาย

โดยผู้ดำรงตำแหน่ง สส.และ สว.ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นได้จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ในแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท หากตรวจสอบแล้วพบว่า พล.อ.ประวิตร มีความผิดจริง ก็จะมีโทษจำคุก รวมถึงถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองด้วย” นายพร้อมพงศ์ ระบุ 

ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคเพื่อไทย ต่างงัด “นิติสงคราม” ขึ้นมาห้ำหั่นกัน ส่วนใครจะ “รอด” หรือ “ร่วง” ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และ ป.ป.ช. จะเป็นผู้ให้คำตอบ...