25 ตุลาคม 2567 คดีตากใบหมดอายุความ ยุติธรรมไทยล้มเหลว?

26 ต.ค. 2567 | 01:00 น.

25 ตุลาคม 2567 บันทึกประวัติศาสตร์ “คดีตากใบ” ผู้เสียชีวิต 85 คน หมดอายุความ หลังผ่าน 20 ปี จำเลยที่ตกเป็นผู้ต้องหาเผ่นหนี ไม่มาศาล ไม่มีใครได้รับโทษ สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว ขาดความเชื่อมั่น

วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เป็นวันที่ “คดีตากใบ” หมดอายุความ ผู้ต้องหาไม่ไปปรากฏตัวที่ศาล และไม่มีใครได้รับโทษแม้แต่คนเดียว

ย้อนรอยคดีตากใบ 20 ปี

"คดีตากใบ" ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 25 ตุลาคม 2547 บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีประชาชนผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนรวมตัว เรียกร้องให้ปล่อยตัวชายมุสลิมเชื้อสายมลายู 6 คน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถูกทางการไทยควบคุมตัวโดยพลการ

บรรยากาศตึงเครียดและยืดเยื้อ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริง ส่งผลให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตทันที 7 คน โดย 5 คนถูกยิงเสียชีวิต 

หลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายชายมุสลิมเชื้อสายมลายูประมาณ 1,370 คน จากหน้า สภ.นราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างออกไป 150 กิโลเมตร 

การขนย้ายผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่บังคับให้นอนทับซ้อนกันในรถบรรทุกทหารเป็นชั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 78 คน จากการถูกกดทับ หรือขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง ขณะที่ผู้รอดชีวิตหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส และบางคนกลายเป็นผู้พิการถาวร

ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและความประมาทในการขนส่งผู้ถูกควบคุมตัว พร้อมกับออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ” กำหนด 11 ประเด็นเพื่อพิจารณา

แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนแม้แต่รายเดียว

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2567 เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สำนวนคดี “ถูกดอง” ไว้ โดยไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อญาติผู้เสียชีวิตพยายามฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสโดยตรง และส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด ให้เร่งรัดคดี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 จนทำให้ปัจจุบัน "คดีตากใบ" มีการฟ้องผู้ต้องหา 2 ชุด

ผู้ต้องหาชุดแรก 

เกิดจากประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้องเองต่อศาลนราธิวาส ซึ่งศาลรับฟ้อง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ในข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา พยายามฆ่า และควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ” โดยมีผู้ต้องหา 7 คน ประกอบด้วย 

1.พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลาออก 14 ต.ค. 67) 2.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผบ.บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 3.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และเป็นอดีต สว. 4.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้น ในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว. 

5.พล.ต.อ.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ ในขณะนั้น 6.นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 7. นายวิชม ทองสงค์ ในเวลานั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

ผู้ต้องหาชุดที่สอง

เกิดจาก "อัยการสูงสุด” (อสส.) มีความเห็นสั่งฟ้อง เมื่อ 12 กันยายน 2567 ข้อหา "เคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา" มีผู้ต้องหา 8 คน   

1.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 2.ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 3.นายวิษณุ เลิศสงคราม 4.ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร 5.นายปิติ ญาณแก้ว  6.พ.จ.ต.รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ 7.พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ 8.ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์  

ทั้งนี้  พล.อ.เฉลิมชัย เป็นคนเดียวที่มีรายชื่อถูกสั่งฟ้องทั้งสองชุด และนอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติระดับล่าง 

                             25 ตุลาคม 2567 คดีตากใบหมดอายุความ ยุติธรรมไทยล้มเหลว?

หมายจับ 6 จำเลย-1 หมายเรียก 

วันที่ 12 ก.ย. 67 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดจำเลย 7 คน ในคดีตากใบมาสอบคำให้การ หลังจาก เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบ ในข้อหา ฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่นและร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว 

ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ และ 7 ราย เสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม

ศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐาน และมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง  

ศาลแถลงว่า ศาลได้สอบถามจากทนายความจำเลยที่ 8-9 ที่มาศาล ทราบว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟ้อง จึงไม่ทราบว่าจะให้เป็นทนายต่อไปหรือไม่ และศาลได้ติดต่อไปได้คำตอบเช่นกัน ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับ จำเลยที่ 3-6 และจำเลยที่ 8-9 ซึ่งประกอบด้วย 

จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 73 ปี 

จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบัน อายุ 73 ปี

จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบัน อายุ 77 ปี

จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน อายุ 70 ปี

จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี

จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าฯ นราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 
ส่วนจำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จึงได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลไม่สามารถออกหมายจับได้ และจับกุมไม่ได้  

ศาลจึงจะมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม จำเลยที่ 1 และมีหมายเรียก และมีหนังสือด่วนที่สุดให้จำเลยที่ 1 แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ตุลาคม 2567

ส่วนจำเลยคนอื่นที่ถูกออกหมายจับ ให้ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตำรวจศาล มีอำนาจจับกุมทันทีที่พบตัว ภายในอายุความ 25 ต.ค.2567

จำเลยคดีตากใบเผ่นหนี 

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นางอังคณา นีละไพจิตร สว. เป็นประธาน วาระพิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส โดเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

หนึ่งในผู้เข้าชี้แจง พล.ต.ต.นิตินัย หลังหย่าหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ระบุว่า ตั้งแต่มีหมายจับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงานได้ติดตามจับกุมทุกหน่วยงาน โดยได้ออกหมายแดงอินเตอร์โพลทั้ง 14 คนเป็นที่เรียบร้อย และล่าสุดได้เดินทางไปพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามตัวผู้ต้องหารายหนึ่งเพื่อให้มามอบตัว แต่ได้รับรายงานว่าขาดราชการ ไม่สามารถติดต่อได้ และทราบว่าหลบหนีไปยังประเทศลาว โดยคาดว่า ใช้ช่องทางธรรมชาติ

...ผ่านไป 20 ปี "คดีตากใบ" หมดอายุความ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ไม่มีจำเลยแม้แต่คนเดียวมาปรากฏตัวต่อศาล เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา อันทำให้กระบวนการไต่สวนไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ และคดีต้องถูกยกฟ้องในที่สุด 

“คดีตากใบ” จึงถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อครหาว่า “กระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว”

                           +++++

กระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) กล่าวว่า “เหตุการณ์ตากใบ” เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ในช่วงที่ นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

โดยในปัจจุบัน มีบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยุคนั้นก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และในขณะที่บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน และกำลังปล่อยให้คดีขาดอายุความ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทย แม้ศาลจะได้ประทับรับฟ้องคดีไว้แล้ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมไทย มีการเลือกปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบยุติธรรมลดลงอย่างมาก 

                         นิพนธ์ บุญญามณี

“การที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ย่อมทำให้ความไว้วางใจในรัฐบาล และกระบวนการยุติธรรมเสื่อมลง และส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งยากขึ้น และซับซ้อนมากกว่าเดิม หากประชาชนไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง” 

นายนิพนธ์ ชี้ว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเสมอภาคและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะประเด็นความยุติธรรม ความเสมอภาคความเท่าเทียม เป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม